13 กันยายน 2567 –  รองอธิบดีกรมการปกครองและผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศเพื่อนบ้าน เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี การดำเนินโครงการ P-to-P และสรุปผลการเนินโครงการ NTS-Mekong Watch

วันอังคารที่ 10 กันยายน 2567 เวลา 10.00 น. นายบรรจบ จันทรัตน์ รองอธิบดีกรมการปกครอง ให้การต้อนรับ Mr. Bong Yik Jui อุปทูตรักษาการสถานเอกอัครราชทูตมาเลเซีย ประจำประเทศไทย Ms. Seinn Lei Tun อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ประจำประเทศไทย Mr. SOK Vuthea อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรกัมพูชา ประจำประเทศไทย Mr. Madhurjya Kumar Dutta ผู้อำนวยการฝ่ายอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน Mekong Institute และ นายคมกฤช จองบุญวัฒนา ผู้อำนวยการกองเอเชียตะวันออก 2 กระทรวงการต่างประเทศ ในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมบทบาทการทูตภาคประชาชนและสร้างการจัดการชายแดนแบบมีส่วนร่วม เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี การดำเนินโครงการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชนในพื้นที่ชายแดน (โครงการ P-to-P) และการสรุปผลการดำเนินโครงการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชนเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (โครงการ NTS-Mekong Watch) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ณ โรงแรม เอส.ดี.อเวนิว เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร โดยมี นางวจิราพร อมาตยกุล ผู้อำนวยการกองวิชาการและแผนงาน และนางสาวสุขุมาลย์ วิริโยธิน ผู้อำนวยการส่วนวิเทศสัมพันธ์ กล่าวต้อนรับและแนะนำโครงการในเบื้องต้น และมีผู้เข้าร่วมการประชุมฯ คือ ปลัดอำเภอที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ชายแดนทั่วประเทศไทยใน 128 อำเภอ 31 จังหวัด

การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 9 – 11 กันยายน 2567 มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการทูตที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานชายแดน เชิดชูผลการดำเนินงานของฝ่ายปกครองในภารกิจสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชนของประเทศเพื่อนบ้าน และสรุปผลการดำเนินงานถอดบทเรียนนำเสนอปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะโครงการ NTS-Mekong Watch เพื่อต่อยอดการดำเนินงานให้สอดคล้องกับโครงการ P-to-P ในปีงบประมาณถัดไป และสอดคล้องกับกับวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี พ.ศ. 2568 (ASEAN Post-2025 Vision)

ในการนี้ รองอธิบดีกรมการปกครองและแขกผู้มีเกียรติ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเพื่อแสดงความขอบคุณต่อผู้เข้าร่วมการประชุมฯ ถึงการดำเนินบทบาทการทูตภาคประชาชนในการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศเพื่อนบ้าน ในระดับ อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน มาเป็นระยะเวลา 10 ปี ผ่านการดำเนินโครงการ P-to-P ซึ่งแม้ว่ากรมการปกครองจะมิได้เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนงานการต่างประเทศ แต่ก็เป็นบทบาทที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในพื้นที่ชายแดน ด้วยนายอำเภอมีบทบาทในฐานะผู้นำราษฎรในพื้นที่ หรือ Area Manager ดังนั้น การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างเมืองคู่ขนาน ตำบลคู่ขนาน หมู่บ้านคู่ขนาน และการรักษาความสงบเรียบร้อยตามแนวชายแดนได้อย่างมีประสิทธิภาพย่อมส่งผลต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ชายแดนโดยตรง

โดยนอกจากจะมีกิจกรรมกลุ่ม การบรรยายพิเศษ และการลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ณ กระทรวงการต่างประเทศ แล้วนั้น ในระหว่างการประชุมฯ ยังมีทอล์คจากปลัดอำเภอชายแดนที่ได้มาร้อยเรียงเรื่องราวการดำเนินโครงการ P-to-P และโครงการ NTS-Mekong Watch รวมทั้งยังมีการเสวนาพิเศษ “แนวทาง P-to-P สู่การสร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” โดยมีแขกรับเชิญกิตติมศักดิ์ ได้แก่ Mr. SOK Den นายอำเภอก็อมเรียง จ.พระตะบอง ประเทศกัมพูชา ดร.รัฐวิทย์ ตั้งเกียรติพชร นายกสมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย – กัมพูชา นายจักรภัทร พรมคล้าย อดีตรักษาการนายอำเภอนาแห้ว และมี ดร.ธนเชษฐ วิสัยจร หัวหน้าสาขาวิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นผู้ดำเนินรายการ

ทั้งนี้การเปลี่ยนผ่านสำหรับ โครงการ  NTS- Mekong Watch   ซึ่งจะหมดเวลาในการดำเนินในเดือนธันวาคม 2567 นี้  โดยจะมียกระดับแนวทางการดำเนินการโครงการไปสู่หลัก “ฺฺBeyond  Border” หรือ การสร้างความร่วมมือข้ามพรมแดนในทุกมิติ เพื่อผลักดัน “การสร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศ “เพื่อรับมือภัย “ความมั่นคงรูปแบบใหม่” ไปในพื้นที่ชายแดนๆทั่วประเทศ 

สำหรับนิยาม  ความมั่นคงในรูปแบบใหม่  ( Non-Traditional Security- NTS)  หมายถึงความท้าทายด้านความมั่นคงที่อยู่นอกเหนือจากประเด็นด้านการทหารหรือการป้องกันประเทศ แบบดั้งเดิม ความท้าทายเหล่านี้ครอบคลุมถึงประเด็นต่าง ๆ เช่น ภัยคุกคามด้านสิ่งแวดล้อม (เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ) ความมั่นคงของมนุษย์ (เช่น การอพยพ การสาธารณสุข และปัญหาแรงงาน) และอาชญากรรมข้ามชาติ (เช่น การค้ามนุษย์ การลักลอบค้ายาเสพติด การหลอกลวงออนไลน์ )  ซึ่งภัยเหล่านี้มุ่งโจมตีประชาชน  มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีเกิดความเสียหายจำนวนมาก  จึงจำเป็นที่ต้องให้ประชาชนมีความรู้เท่าทัน  (NTS- Literacy) ในเรื่องเหล่านี้  และรวมถึงการสนับสนุนให้ผู้นำในพื้นที่เป็นผู้นำที่ประชาชนสามารถเข้าถึงและพึ่งพาได้ ( Change Heroes/ Change Agent) รวมถึงการสร้างพื้นที่ต้นแบบ (์Best Practice)  การร่วมมือกับพื้นที่คู่ขนานในด้านต่างๆ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ชายแดนใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขที่สุด

 

10 ปี โครงการ P-to-P : หนึ่งทศวรรษการทูตภาคประชาชนในบทบาทของกรมการปกครอง

10th Anniversary of P-to-P Project : A Decade of DOPA People’s Diplomacy

#กรมการปกครอง
#การทูตภาคประชาชน #PeoplesDiplomacy
#PeopletoPeopleConnectivity
#NTSMekongWatch #MKCF #MekongInstitute
#10ปีตีต่อใจ #รวมพลคนชายแดน #ปลัดชายแดน