ระหว่างวันที่11 – 13 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ภายใต้การอำนวยการของ นางวจิราพร อมาตยกุล ผอ.วช. ได้มอบหมายให้ นางสาวสุขุมาลย์ วิริโยธิน ผอ.สวท.และคณะเจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานงานโครงการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชนเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (ศปสล.) ลงพื้นที่ จังหวัดเลย ณ ทปค.อ. ด่านซ้าย  นาแห้ว ท่าลี่ เชียงคาน และปากชม ซึ่งเป็นอำเภอตามกลุ่มเป้าหมายเพื่อพบปะและหารือร่วมประชุมกับ นายอำเภอ ปลัดอาวุโส ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ ผู้แทนจากหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ เพื่อตรวจติดตามการดำเนินโครงการ NTS- Mekong Watch

ผลการตรวจติดตามพบว่า การดำเนินการโครงการ NTS- Mekong Watch ทั้งการสานสัมพันธ์กับประเทศคู่ขนานและการจัดตั้งศูนย์ประสานโครงการ NTS- Mekong Watch เป็นไปด้วยความเรียบร้อย  โดยพบปัญหาพื้นที่ของชายแดนจังหวัดเลยทั้ง 5 อำเภอ มีปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่อย่างต่อเนื่อง ด้วยสภาพภูมิประเทศที่มีช่องทางธรรมชาติจำนวนมากที่เป็นป่าเขาและมีลำน้ำเหืองและลำน้ำโขง ที่ขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติสามารถลักลอบขนสิ่งผิดกฎหมายข้ามแดนได้ทุกเวลาทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด (ยาบ้า) ที่มีเป็นจำนวนมากที่สามารถจับกุมและยึดได้ในพื้นที่ชายแดนและในพื้นที่ตอนใน รวมถึง สิ่งของหนีภาษี เช่น รถยนต์ รถจักร ยานยนต์ เหล้า บุหรี่ วัว ควาย ซึ่งมีการจับกุมได้บ่อยครั้ง และเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ขาดเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการช่วยปฏิบัติงาน กล้อง Night vision, เสื้อเกราะกันกระสุน  กล้องCCTV  และขาดงบประมาณในการสนับสนุนเครือข่ายภาคประชาชนในการเฝ้าระวังและตรวจ/ลาดตระเวนภัยความมั่นคงต่างๆ โดยเฉพาะยาเสพติดที่เล็ดลอดเข้าประเทศจำนวนมาก ผ่านช่องทางธรรมชาติต่างๆ

ชุมชนชายแดนกับวิถีชีวิตสองแผ่นดิน (Beyond Border)

จากการลงพื้นที่ครั้งนี้สิ่งที่เห็นได้จากพื้นที่ชัดเจน คือ เรื่องวิถีชีวิตที่ส่วนใหญ่ในพื้นที่คู่ขนานจะเป็นเครือญาติกัน  เพราะมาจากหมู่บ้านเดียว ใช้ชื่อหมู่บ้านเดียวกันทั้งฝั่งไทย-ลาว แต่ถูกแบ่งแยกด้วยลำน้ำเหือง อาทิเช่น บ้านนาข่า (อ.ด่านซ้าย)  บ้านเหมืองแพร่ (อ.นาแห้ว)  และ เมืองบ่อแตน ที่ชาวบ้านได้สร้าง “ด่านประเพณี” เดินทางไปมาหาสู่กันทุกวันพระ โดยข้ามลำน้ำเหือง โดยสะพานไม้เล็กๆ ซึ่งถ้าสะพานถูกน้ำพัดไป ก็จะไปมาหาสู่การใช้แพ หรือพายเรือ ไปมาหาสู่กัน  ดังนั้น  การไปมาหาสู่ของคนในพื้นที่จึงเป็นเรื่องปกติและเป็นวิถีชีวิตและเป็นความรู้สึกที่เกินเรื่องชายแดนไปแล้ว เพราะทั้งสองฝั่งมีความสนิทสนมใกล้ชิด

หลักมนุษยธรรมนำการตัดสินใจ VS หลักความมั่นคง

เรื่องดังกล่าว ในเชิงความมั่นคง เป็นเรื่องที่อ่อนไหวเป็นอย่างมาก แต่ในเชิงการปกครอง คือเป็นประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจร่วมกัน และเป็นที่มาที่โครงการ NTS- Mekong Watch ที่สานต่อการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชนในพื้นที่ชายแดน (People to People Connectivity – P2P) และต่อยอดสู่การสร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศ ( Building Strong Cross Border Communities)  ที่เน้นย้ำถึง การคิดถึงบริบทของสังคมและการใช้หลักมนุษยธรรม, คุณธรรม นำการตัดสิน เรื่องใดที่เป็นวิถีชีวิต เป็นความเดือดร้อนที่เกี่ยวกับความทุกข์ยากของประชาชน ต้องมีการอลุ่มอล่วย/อนุโลม เพื่อให้สองฝั่งอยู่ด้วยกันอย่างปกติสุขที่สุด ซึ่งปัจจุบันฝ่ายปกครองที่ต้องดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนมีความตระหนักในเรื่องอยู่แล้ว เพราะบริบทงานที่ใกล้ชิดประชาชนมากกว่าฝ่ายความมั่นคงที่มักใช้กฎหมายนำในการปกครอง ซึ่งบางครั้งไม่สอดคล้องกับบริบทชายแดน ดังนั้น ฝ่ายปกครองในพื้นที่ต้องทำความเข้าใจกับฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนให้เข้าใจมิติความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ชายแดนทั้งสองฝั่งอย่างรอบด้านต่อไป

โดยเฉพาะในเรื่องที่เป็นการทำมาหากินของประชาชน เช่น การหาปลาในลำน้ำโขง ของพี่น้องประชาชนทั้งสองฝั่ง ที่บ่อยครั้ง เรือประมงของชาวบ้านอาจจะมีการลอยเลยไปฝั่งพื้นที่ฝั่งตรงข้ามโดยไม่ได้ตั้งใจ แต่เป็นการทำผิดกฎหมายแบบที่คาดไม่ถึงและต้องมีการจ่ายค่าปรับนับแสนบาท ซึ่งถือว่าสูงมากสำหรับประชาชนชายแดนทั้งสองฝั่ง เรื่องเหล่านี้หากบริหารจัดการไม่ดีและใช้กฎหมายนำอาจจะนำมาซึ่งความบาดหมางระหว่างพื้นที่คู่ขนานได้ เรื่องเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายปกครองของพื้นที่คู่ขนาน ต้องพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เพราะลำพังแค่กฎหมาอย่างเดียวคงไม่สามารถตอบโจทย์การอยู่ร่วมกันในพื้นที่ได้

จากการลงพื้นที่ครั้งนี้พบว่า  แนวทางปฏิบัติงานในพื้นที่เป้าหมายฯ ได้มีการทำงานเรื่องการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนและการต่อยอดสู่การสร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศอย่างเข้มแข็ง  โดยเฉพาะเรื่องการส่งผู้ป่วยฉุกเฉิน การประสานงานกันในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน เพื่อให้ประชาชนอยู่ด้วยกันอย่างปกติสุขที่สุด

ไทย “ตั้งรับ” เรื่องปักปันเขตแดนไม่ชัดเจน เหตุเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ขาดความรู้ด้านกฎหมายระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาพรวมความสัมพันธ์กับพื้นที่คู่ขนานจะเป็นไปด้วยดีและมีความใกล้ชิด  แต่ก็พบว่าในพื้นที่ชายแดนหลายแห่งยังมีปัญหาที่เป็นความอ่อนไหว คือ เรื่องพื้นที่ที่มีการปักปันเขตแดนไม่ชัดเจน โดยเฉพาะในเขตดอนและเกาะแก่งต่างๆในลำน้ำโขงที่ยังเป็นปัญหาด้านความมั่นคงทางอธิปไตย เพราะต่างถือพื้นที่คนละฉบับ

ทั้งนี้ประเทศไทยเป็นฝ่ายตั้งรับบ่อยครั้งเพราะขาดบุคลากรในพื้นที่ชายแดนที่มีความรู้เรื่องกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายเขตแดน ทำให้พื้นที่ทำได้เพียงส่งหนังสือทักท้วงเท่านั้น ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ซึ่งแตกต่างจากของพื้นที่คู่ขนานที่มีเจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและการต่างประเทศลงมาอยู่ในพื้นที่ของแต่ละเมือง ทำให้มีความแม่นยำทางกฎหมายมากกว่า ดังนั้น จึงเห็นว่าในอนาคตเจ้าหน้าที่ปกครองของไทยในพื้นที่ชายแดนต้องเสริมความรู้เหล่านี้ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องมีการพัฒนากันต่อไป

“ผู้ป่วยจิตเวช” ภาระของสังคม?  

นอกจากนี้ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ทีม NTS- Mekong  Watch ยังได้รับเสียงสะท้อนถึงปัญหายาเสพติดที่เป็นภัยบ่อนทำลายสังคสไทยมาอย่างยาวนาน และเห็นมากขึ้นเรื่อยๆจากจำนวนผู้ป่วยจิตเวชในแต่ละพื้นที่ ซึ่งส่งกระทบกับประชาชนอย่างทั่วหน้า ตั้งแต่ในครอบครัว ชุมชน และ ไปถึงเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะฝ่ายปกครองที่ต้องทำงานอย่างหนักในการ “คนคุ้มคลั่ง” ไปรักษา ตามนโยบายการค้นหาผู้ป่วยจิตเวชเข้ารับการรักษาของรัฐบาล เพื่อที่จะทำให้สังคมปลอดภัย

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติและปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ปรากฎว่าผู้ป่วยเหล่านี้ได้กลายเป็นภาะของโรงพยาบาล ที่พบว่าพ่อแม่หรือญาติพี่น้องชองผู้ป่วยจิตเวชมักจะไม่อยากรับผิดชอบผู้ป่วย หรือเรียกง่ายๆ ว่า “พ่อแม่ญาติพี่น้องไม่มีใครเอาแล้ว” ทำให้ภาระเหล่านี้ตกอยู่กับโรงพยาบาล และมักจะหนีไม่พ้น “ฝ่ายปกครอง” ที่มักจะถูกเรียกให้ไปดูแลผู้ป่วยเหล่านี้เสมอ เพราะหาคนเฝ้าไม่ได้ เพราะไม่มีใครอยากเฝ้าผู้ป่วยจิตเวช เพราะอันตรายและสามารถมีอาการคลุ้มคลั่งได้ทุกเมื่อ และยังไม่มีใครรับผิดชอบเรื่องค่ารักษาอีกต่างหาก  เรื่องดังกล่าวถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองมีความกังวล เพราะยังไม่สามารถหาจุดที่สมดุลในเรื่องนี้ได้ ว่าผู้ป่วยจิตเวชเหล่านี้ควรจะมีการบริหารจัดการอย่างไร เพื่อที่จะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนมากกว่านี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่าสภาพปัญหาผู้ป่วยจิตเวชในพื้นที่จะมีส่วนทำให้ประชาชนตระหนักถึงพิษภัยยาเสพติดมากขึ้นหรือไม่ ก็ได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ที่ทำงานในเรื่องนี้อย่างหนักว่า อาจจะไม่มีความหวังมากนัก เพราะปัญหายาเสพติดกับสังคมไทย กลายเป็นเหมือนปัญหาไข้หวัดของสังคมไปแล้ว ที่คนอาจจะไม่ชอบแต่ก็สามารถทนๆอยู่ด้วยกันไปได้

ทั้งนี้ทางคณะฯได้ลงพื้นที่ศึกษาพื้นที่ด่านประเพณีทั้งที่ด่านซ้ายและนาแห้ว รวมถึงพื้นที่ช่องทางธรรมชาติตลอดลำน้ำเหืองและลำน้ำโขง และได้เห็นการทำงานร่วมกันของฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่อย่างเข้มแข็ง ทั้ง “หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง” หรือ นรข. , กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่246 และ เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรเชียงคาน ในการปฏิบัติการลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติด (Quick win) ซึ่งทางคณะฯจะนำความรู้ ประสบการณ์และข้อเสนอแนะต่างๆ ไปพัฒนาโครงการ NTS-Mekong  Watch ต่อไป

#NTSMekongWatch

#AwarenessToday

#SecureTomorrow

#ปกป้องพื้นที่ชายแดนเท่ากับปกป้องคนทั้งประเทศ