ระหว่างวันที่ 9 – 14 สิงหาคม 2567 ภายใต้การอำนวยการของ นางวจิราพร อมาตยกุล ผอ.วช. ได้มอบหมายให้ นางสาวสุขุมาลย์ วิริโยธิน ผอ.สวท.และคณะเจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานงานโครงการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชนเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (ศปสล.) ลงพื้นที่ จังหวัดอำนาจเจริญ ณ ทปค.อ. ชานุมาน และ จังหวัดอุบลราชธานี ทปค.อ. เขมราฐ นาตาล โพธิ์ไทร โขงเจียม สิรินธร บุณฑริก และ น้ำยืน ซึ่งเป็นอำเภอตามกลุ่มเป้าหมายเพื่อพบปะและหารือร่วมประชุมกับนายอำเภอ ปลัดอาวุโส ปลัดฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ เพื่อตรวจติดตามการดำเนินโครงการ NTS- Mekong Watch รวมถึงการถ่ายทำวิดีทัศน์การสร้างการตระหนักเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการเฝ้าระวังภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่

ผลการตรวจติดตามพบว่า การดำเนินการโครงการ NTS- Mekong Watch ทั้งการสานสัมพันธ์กับประเทศคู่ขนานและการจัดตั้งศูนย์ประสานโครงการ NTS- Mekong Watch เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยเฉพาะการสานสัมพันธ์กับพื้นที่คู่ขนานฝั่งสปป.ลาว ได้แก่เมือง ซะนะสมบูน สองคอน ละครเพ็ง สองคอน โพนทอง สุขุมา และ คงเซโดน โดยการจัดกิจกรรมประชุมหารือเรื่องความร่วมมือด้านความมั่นคงและการสานสัมพันธ์ People to People Connectivity(P2P)ทั้งด้านการกีฬา วัฒนธรรม และ การศึกษา เป็นไปด้วยดี

ขณะที่พื้นที่อำเภอน้ำยืน ที่มีคู่ขนานกับเมือง จอมกระสาน จังหวัดพระวิหาร ประเทศกัมพูชา ซึ่งมีปัญหาเรื่องความมั่นคงประเด็นการปักปันเขตแดนไม่ชัดเจนบริเวณจุดผ่อนปรนการค้าช่องอานม้า และมีการประท้วงโดยฝ่ายความมั่นคงไทย (กองกำลังสุรนารี)ซึ่งเป็นหน่วยที่รับผิดชอบพื้นที่ ทำให้ฝ่ายปกครองได้รับผลกระทบในการจัดกิจกรรมดังกล่าวและอยู่ในระหว่างการประสานงานกับฝ่ายความมั่นคงของประเทศไทยเพื่อขออนุญาตในการจัดกิจกรรมต่อไป

สำหรับการรับมือภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ พบว่าในพื้นที่มีการลักลอบขนยาเสพติดข้ามแดนอยู่บ้าง แต่ถือว่าไม่มากนักเมื่อเทียบกับพื้นที่ชายแดนทางตอนบนของไทย อย่างไรก็ตามพบว่ามีปัญหาการลักลอบขนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไปพื้นที่ฝั่งตรงข้ามจำนวนมาก ซึ่งในระหว่างนี้ทางเจ้าหน้าของทั้งสองฝั่งพยายามหาแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าวร่วมกัน

ขณะที่ปัญหายาเสพติดในพื้นที่พบว่ามีการแพร่ระบาดของยาเสพติดจำนวนมาก และนำมาซึ่งปัญหาผู้ป่วยจิตเวชที่กำลังเป็นปัญหาหนักในพื้นที่อยู่ เพราะไม่มีพื้นที่ในการบำบัดผู้ป่วยจิตเวชอย่างยั่งยืน เมื่อจับมาแล้วก็ต้องปล่อยตัวกลับพื้นที่เดิม ทำให้ปัญหาวนกลับไปที่เดิม โดยเจ้าหน้าที่ในพื้นทีเสนอว่าแต่ละจังหวัดควรมีสถานที่และงบประมาณในการบำบัดผู้ป่วยจิตเวชอย่างจริงจัง เพื่อที่ให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับปัญหาอุปสรรคในการทำงานในพื้นที่พบว่า พื้นที่อำเภอชายแดนของจ.อุบลราชธานี มีการโยกย้ายข้าราชการบ่อยครั้ง ทำให้การประสานงานขาดความต่อเนื่องและไม่มีความเป็นเอกภาพกับหน่วยงานอื่นๆในพื้นที่ เพราะงานด้านความมั่นคงต้องใช้เวลาในการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ดังนั้นควรเปิดโอกาสให้ข้าราชการในพื้นที่ได้มีการทำงานอย่างต่อเนื่อง และควรเพิ่มอัตราปลัดอำเภอด้านความมั่นคง เป็น 2 อัตรา เพื่อทำงานทั้งการลงพื้นที่และงานด้านเอกสารควบคู่กันไป จะทำให้การทำงานในพื้นที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ทางคณะฯ ได้เห็นถึงความพยายามของฝ่ายปกครองในพื้นที่ในการสร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศ ทั้งเรื่องการส่งเสริมการเรียนรู้กฎหมาย/ระเบียบซึ่งกันและกัน การใช้หลักมนุษธรรมนำการตัดสินใจในเรื่องที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชน และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกันกรณีความผิดทางอาญาร้ายแรง

ทั้งนี้ ทางคณะฯยังได้ลงพื้นที่ศึกษาพื้นที่จุดผ่อนปรนทางการค้า ด่านประเพณีในพื้นที่ทั้งริมฝั่งแม่น้ำโขงและพื้นที่ทางบก ซึ่งทำให้เห็นภาพการไปมาหาสู่กันของประชาชนในระหว่างพื้นที่คู่ขนานมากขึัน
ซึ่งทางคณะฯจะนำความรู้ ประสบการณ์และข้อเสนอแนะต่างๆ ไปพัฒนาโครงการ NTS-Mekong Watch ต่อไป

#NTSMekongWatch
#AwarenessToday
#SecureTomorrow
#ปกป้องพื้นที่ชายแดนเท่ากับปกป้องคนทั้งประเทศ