การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี การดำเนินโครงการ P-to-P และสรุปผลการเนินโครงการ NTS-Mekong Watch (“Workshop: 10th Anniversary of the P-to-P Project – A Decade of DOPA’s People Diplomacy X Finale Forum: Strengthening P-to-P Connectivity through the NTS-Mekong Watch”) ระหว่างวันที่ 9 – 11 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา มีไฮไลท์สำคัญคือ กิจกรรมการแบ่งปันประสบการณ์ และการนำเสนอบทเรียนความสำเร็จจากพื้นที่ต้นแบบ (Best Practice) ภายใต้หัวข้อ “เสียงจากพื้นที่ เรื่องราวการเปลี่ยนแปลงและความสำเร็จ (Voice from the Field – Stories of Change and Succes)” ซึ่งเป็นเรื่องราวของเป็นการต่อยอดการสร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศ จากมิติความมั่นคงที่เน้นเรื่องความร่วมมือในการเฝ้าระวังอาชญากรรมข้ามชาติ ไปสู่การ “ร่วมมือข้ามพรมแดน” ในมิติอื่นๆ (Beyond Border) เช่น การสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม การศึกษา สังคม โดยมีการนำเสนอความสำเร็จจาก 5 พื้นที่ดังนี้
https://www.youtube.com/watch?v=EsASVuL399w&t=4081s&ab_channel=dopachannel
1.นำทางสู่ความสำเร็จ: สร้างสะพานเชื่อมโยงชุมชนและเสริมสร้างความมั่นคงในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” – “Leading the Way: Bridging Communities and Strengthening Security in the Mekong” อำเภอเชียงคาน ได้วางแผนการดำเนินงานชายแดนและพื้นที่คู่ขนาน เมืองซะนะคาม แขวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว อย่างเป็นระบบ โดยยึดหลัก การทูตภาคประชาชน ที่เน้นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่คู่ขนาน ผ่านการปรึกษาหารือ การไปมาหาสู่ และการเข้าร่วมงานบุญและกิจกรรมทางวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง
ความร่วมมือทางด้านความมั่นคงของทั้งสองพื้นที่ครอบคลุมการป้องกันและปราบปรามการลักลอบลำเลียงยาเสพติดข้ามพรมแดน และการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายทางช่องทางธรรมชาติ ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างผู้นำในพื้นที่คู่ขนานซึ่งเกิดจากการทำงานร่วมกันและการไปมาหาสู่ ทำให้เกิดการประสานงานอย่างต่อเนื่อง เป็นความร่วมมือข้ามพรมแดน (Beyond Border)
แนวทางดังกล่าวนำมาซึ่ง ความสงบสุขและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ในพื้นที่ชายแดน ทั้งฝั่งไทยและลาว ถือเป็นตัวอย่างความสำเร็จของการสร้างความร่วมมือที่ยั่งยืนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
- ความร่วมมือด้านสาธารณสุข: การซ้อมแผนส่งต่อผู้ป่วยข้ามพรมแดน – เพื่อความปลอดภัยของเราทั้งสองฝั่ง
อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ได้ร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินโครงการ การซ้อมแผนส่งต่อผู้ป่วยระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของประชาชนทั้งสองฝั่งชายแดน
ที่ผ่านมามีชาวกัมพูชาเดินทางเข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลของจังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ และอุบลราชธานีปีละกว่า 250,000 – 300,000 คน อย่างไรก็ตาม เส้นทางด่านช่องสะงำ ซึ่งเป็นพื้นที่ภูเขา มีอุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ส่งผลให้การส่งต่อผู้ป่วยในพื้นที่ชายแดนเป็นความท้าทายสำคัญ
โครงการนี้ได้จัดการซ้อมแผนเสมือนจริงร่วมกันระหว่างไทยและกัมพูชา ณ สถานีขนส่งผู้โดยสารเมืองใหม่ช่องสะงำ ด่านพรมแดนถาวรช่องสะงำ และถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2201 ซึ่งเชื่อมต่อไปยังจังหวัดอุดรมีชัยและจังหวัดเสียมราฐของกัมพูชา
ผลลัพธ์ของโครงการคือ การสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับบทบาท ขั้นตอน และกระบวนการส่งต่อผู้ป่วยข้ามพรมแดน รวมถึงการจัดการด้านพิธีการข้ามแดนระหว่างเจ้าหน้าที่ของทั้งสองประเทศ นับเป็นการวางรากฐานสำคัญสำหรับ ระบบบริการทางการแพทย์ข้ามพรมแดน ที่จะช่วยลดความสูญเสียและยกระดับความปลอดภัยของประชาชนในทั้งสองประเทศในอนาคต
- ความร่วมมือด้านการศึกษา: การดูงานบริหารจัดการขยะ – จุดเริ่มต้นของการพัฒนาเมืองอย่างมีคุณภาพ
อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย ได้สานต่อความร่วมมือจากการประชุมเชิงปฏิบัติการสานสัมพันธ์ลุ่มน้ำโขง (Mekong Linkage Workshop) ด้วยการเปิดบ้านต้อนรับ คณะอาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ในการทัศนศึกษาดูงานด้านการบริหารจัดการขยะ (เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน)
การดูงานครั้งนี้ครอบคลุมกระบวนการที่สำคัญ ได้แก่ การคัดแยกขยะ การอัดก้อนพลาสติก และการจัดทำถังหมักประสิทธิภาพสูง รวมถึงการเยี่ยมชมชุมชนตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการคัดแยกขยะ และการจัดการขยะในแหล่งท่องเที่ยว
ความร่วมมือนี้ไม่เพียงแต่ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อม แต่ยังถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนในพื้นที่ชายแดนทั้งสองฝั่ง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนร่วมกันในอนาคต
4.การนำเข้าแรงงานตามมาตรา 64: แนวทางแก้ไขปัญหาการเข้าเมืองผิดกฎหมาย – Win-Win Solutions สำหรับไทยและประเทศเพื่อนบ้าน
อำเภอโป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี ได้ดำเนินการตาม พระราชบัญญัติการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 มาตรา 64 และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งอนุมัติให้นำเข้าแรงงานจากกัมพูชาเข้ามาทำงานในจังหวัดจันทบุรี โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรที่เกิดจากสถานการณ์โควิด-19 ลดการลักลอบใช้แรงงานผิดกฎหมาย และทำให้กระบวนการตรวจโรคของแรงงานเป็นไปตามระบบที่กำหนด
ความร่วมมือดังกล่าวได้สร้าง Win-Win Solutions ให้กับพื้นที่คู่ขนาน โดยฝ่ายไทยสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ขณะที่แรงงานชาวกัมพูชาได้รับโอกาสในการทำงานและรายได้เพื่อนำไปเลี้ยงดูครอบครัว ความร่วมมือนี้ไม่เพียงช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ แต่ยังสร้างความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนในพื้นที่ชายแดนทั้งสองฝั่งอย่างยั่งยืน
- ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม: แนวกันไฟสองแผ่นดิน – ป้องกันไฟป่าและแก้ไขปัญหาหมอกควัน PM2.5 ข้ามแดน
อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ได้ริเริ่มความร่วมมือกับพื้นที่คู่ขนาน บ้านเชียงตอง เมืองคอบ แขวงไชยบุรี สปป.ลาว ในการจัดทำ แนวกันไฟ บริเวณภูชี้ฟ้า หลังจากพื้นที่ดังกล่าวประสบเหตุไฟป่าครั้งใหญ่ในเดือนมีนาคม 2566
ในเดือนมีนาคม 2567 ทั้งสองพื้นที่ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “การทำแนวกันไฟสองแผ่นดิน” ซึ่งไฮไลต์ที่สร้างความประทับใจอย่างยิ่ง คือ ชาวบ้านจาก สปป.ลาว ที่เดินเท้ากว่า 3 ชั่วโมง ขึ้นดอยภูชี้ฟ้า แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ แต่พวกเขามีความตั้งใจอย่างแรงกล้าในการร่วมมือกับ ชาวบ้านตำบลตับเต่า อำเภอเทิง อีกกว่า 200 คน
กิจกรรมดังกล่าวไม่เพียงช่วย ป้องกันไฟป่า ในบริเวณภูชี้ฟ้า แต่ยังเป็น การแก้ปัญหาหมอกควัน PM2.5 อย่างมีประสิทธิภาพ โดยความร่วมมือนี้ส่งผลให้ค่าฝุ่น PM2.5 ในปี 2567 ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากที่เคยสูงกว่า 200 มคก./ลบ.ม. เหลือสูงกว่า 100 มคก./ลบ.ม.
นอกจากนี้ กิจกรรมนี้ยังสะท้อนถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนในพื้นที่ชายแดนไทย-ลาว ซึ่งเป็นตัวอย่างของ ความร่วมมือข้ามพรมแดน ที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกันทั้งสองฝั่งชายแดนในอนาคตต่อไป
กิจกรรมประชุมสรุปการดำเนินโครงการ NTS – Mekong Watch เป็นการทบทวนภาพร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่และพื้นที่เป้าหมายในสิ่งทีผ่านมาด้วยกัน และ มองไปข้างหน้าด้วยการต่อยอด แนวคิดการรับมือภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ไปสู่พื้นขายแดนอื่นๆทั่วประเทศ เพราะการปกป้องชุมชนชายแดน เท่ากับการปกป้องประเทศ
###