Connecting Nation, Linking People
NTS Mekong
โครงการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชนเพื่อรับมือกับความท้าทาย ด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เป็นข้อเสนอโครงการของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 6 (Mekong-ROK Cooperation Fund: MKCF) โดยมีวัตถุประสงค์ส่งเสริมการบูรณาการความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคให้มี ความครอบคลุมมากยิ่งขึ้นเพื่อรับมือกับปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติในพื้นที่ชายแดนไทย-ลาว และ ไทย-กัมพูชา อย่างมีประสิทธิภาพและรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการค้ามนุษย์ การลักลอบขนยาเสพติดข้ามแดน และการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย
โครงการฯ มีแนวทางการดำเนินการหลัก 2 แนวทางสำคัญ ได้แก่
- การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน (Civic Engagement) ในการร่วมสอดส่องเฝ้าระวังปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ และแจ้งเหตุอันควรสงสัยแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเพื่อดำเนินการตรวจสอบและขยายผลอย่างเป็นรูปธรรมผ่านการดำเนิน “กลไกการเฝ้าระวังลุ่มน้ำโขงแบบมีส่วนร่วม” (NTS-Mekong Watch) ในทุกพื้นที่ตำบลและหมู่บ้านในอำเภอกลุ่มเป้าหมาย
- การเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน (People-to-People Connectivity) ผู้นำท้องที่และเจ้าหน้าที่รัฐของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ผ่านการเดินทางไปเยือน สปป.ลาว และกัมพูชา โดยคณะนายอำเภอ/ปลัดอำเภอ และกำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อหารือความร่วมมือในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกลไก “NTS-Mekong Watch” รวมถึงการเชิญคณะผู้นำจาก สปป.ลาว และกัมพูชา มาเยือนอำเภอฝั่งไทยเพื่อกระชับความร่วมมือและดำเนินกิจกรรมด้านสังคมและวัฒนธรรมร่วมกัน
กลไกการเฝ้าระวังลุ่มน้ำโขงแบบมีส่วนร่วม
(NTS-Mekong Watch)
การสร้างความรู้ความเข้าใจและการส่งต่อองค์ความรู้
1) การจัดการอบรม (Capacity Building) เกี่ยวกับภัยคุกคามด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการรับมือกับปัญหาดังกล่าวให้แก่ผู้นำท้องที่และเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ เพื่อให้สามารถส่งเสริมบทบาทการมีส่วนร่วมของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถส่งต่อองค์ความรู้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ต่อไป
2) การส่งต่อองค์ความรู้ (Knowledge Management) ให้แก่ประชาชนในพื้นที่โดยเจ้าหน้าที่รัฐและผู้นำท้องที่ ผ่านกลไกประชาคมหมู่บ้าน หอกระจายข่าวในแต่ละหมู่บ้าน หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น และการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ณ ที่ว่าการอำเภอ และที่ทำการกำนันและผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น
3) การเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น เว็บไซต์โครงการฯ Facebook และ YouTube ของโครงการฯ และกรมการปกครอง เป็นต้น
การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
1) การจัดตั้งศูนย์ประสานงานกลไกการเฝ้าระวังลุ่มน้ำโขงอย่างมีส่วนร่วม (NTS-Mekong Watch Coordination Center) ในพื้นที่ 44 อำเภอกลุ่มเป้าหมาย และมอบหมายให้กำนันและผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ประสานงานประจำตำบลและหมู่บ้าน ณ ที่ทำการกำนันและที่ทำการผู้ใหญ่บ้านทุกแห่งในพื้นที่ เพื่อรับการเข้าแจ้งเหตุอันควรสงสัยโดยประชาชน และรายงานไปยังศูนย์ประสานงานฯ เพื่อตรวจสอบเหตุที่ได้รับแจ้งต่อไป
2) การจัดทำกลไกการแจ้งเหตุออนไลน์ผ่านเว็บไซต์โครงการ “NTS-Mekong Watch” โดยทั้ง 44 อำเภอ จะสามารถเข้าถึงข้อมูลการแจ้งเหตุออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับเขตรับผิดชอบของแต่ละอำเภอ เพื่อประมวลข้อมูลสำหรับการดำเนินการตรวจสอบ และประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
การดำเนินกลไกในพื้นที่โดยฝ่ายปกครอง
1) การดำเนินการตรวจสอบเหตุที่ได้รับแจ้งทั้งจากศูนย์ประสานงานฯ ในพื้นที่ และการแจ้งเหตุออนไลน์ โดยบูรณาการเข้ากับกลไกของกรมการปกครอง เช่น กำลังพลสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) และภารกิจด้านความมั่นคงของที่ทำการปกครองอำเภอ เช่น การตั้งด่านและการลาดตระเวน เป็นต้น
2) การบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ เช่น ตำรวจท้องที่ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) กองทัพบก หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (นรข.) เป็นต้น ทั้งในด้านการประสานกำลังปฏิบัติภารกิจและการแลกเปลี่ยนข้อมูล
3) การประสานความร่วมมือกับ สปป.ลาว และกัมพูชาในระดับอำเภอ/เมือง และระดับผู้นำท้องที่ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและหารือการยกระดับความร่วมมือด้านความมั่นคงในพื้นที่
การติดตามผลการดำเนินการและการประเมินผล
1) การรายงานผลการปฏิบัติงานของศูนย์ประสานงานฯ ของที่ทำการปกครองแต่ละแห่ง ซึ่งประกอบด้วยสถิติการแจ้งเหตุทั้งจากการรวบรวมจากผู้ประสานงานประจำตำบล/หมู่บ้าน และการแจ้งเหตุออนไลน์ ผลการตรวจสอบ และการขยายผล นำส่งให้กับศูนย์ประสานงานโครงการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชนเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (ศปสล.) เดือนละ 1 ครั้ง
2) การจัดการประชุมหารือกับหน่วยงานและ/หรือภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเป็นระยะ เพื่อประเมินผลการดำเนินการของกลไก “NTS-Mekong Watch” และหารือแนวทางการแก้ไข/ปรับปรุงสำหรับการดำเนินการในระยะต่อไป
3) การประมวลผลการดำเนินการของกลไก “NTS-Mekong Watch” ในแต่ละไตรมาสเพื่อจัดทำรายงานผลการดำเนินการและสื่อประชาสัมพันธ์สำหรับการเผยแพร่เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจต่อไป