การลักลอบเข้าเมืองหรือการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย หมายถึง การเข้าเมืองโดยฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองของประเทศปลายทาง โดยการลักลอบขนผู้โยกย้ายถิ่นฐานโดยบุคคลที่สาม หรือเป็นการลักลอบเข้าเมืองด้วยตนเองของคนต่างด้าวหรือผู้โยกย้ายถิ่นฐานก็ได้การลักลอบเข้าเมืองอาจนำไปสู่ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติในหลายรูปแบบ เช่น การขนส่งยาเสพติดข้ามชาติการก่อการร้าย และการก่ออาชญากรรม แต่ละปีมีการจับกุมดำเนินคดีคนต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองจำนวนมาก โดยสัญชาติผู้กระทำผิด ได้แก่ เมียนมา กัมพูชา และลาวตามลำดับ แต่ก็ยังมีคนสัญชาติอื่นที่กระทำผิดลักลอบเข้าเมือง เช่น เวียดนาม จีน เอเชียใต้และแอฟริกา
ในกลุ่มประเทศอาเซียน คนต่างด้าวที่เข้าประเทศไทยโดยส่วนใหญ่เป็นคนสัญชาติลาว เมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม โดยเป็นการลักลอบเข้ามาเพื่อทำงาน เนื่องจากในภาคเกษตรกรรมและบางอุตสาหกรรมยังขาดแคลนแรงงานอยู่เป็นจำนวนมากคนต่างด้าวเหล่านี้จึงสามารถเข้ามาทำงานและหารายได้ที่สูงกว่าการทำงานในประเทศของตนส่วนใหญ่เป็นการใช้แรงงานหรือเป็นแรงงานไร้ฝีมือ การทำงานในภาคการเกษตร บริการ และอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม ปัญหาแรงงานต่างด้าวที่เข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายในปัจจุบัน ได้ลดระดับความรุนแรงลง เนื่องจากมีมาตรการตามกฎหมาย เช่น การขึ้นทะเบียนคนต่างด้าวให้อยู่ในประเทศตามระยะเวลาที่กำหนด รวมทั้งการนำเข้าแรงงานที่เป็นคนต่างด้าวสัญชาติลาว เมียนมา และกัมพูชาผ่านความตกลงในรูปแบบบันทึกความตกลงร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้านเรื่องความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU) และเมื่อปีพ.ศ. 2560 ไทยได้ออกพระราชกำหนดการบริหารจัดการการการทำงานของคนต่างด้าวพ.ศ. 2560 ทำให้แรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายมีจำนวนลดลงไปมาก
จากสถิติของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พบว่าระหว่างปีพ.ศ. 2560 – 2562 มีผู้ลักลอบเข้าเมืองที่ผิดกฎหมายและถูกดำเนินคดีจำนวน 289,391 ราย 146,742 ราย และ 79,909 ราย ตามลำดับ ปัจจุบันกลุ่มผู้ลักลอบเข้าเมืองส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแรงงานจากเมียนมา ลาว และกัมพูชา ซึ่งไทยให้ความสนใจเชิงนโยบายและการบริหารจัดการมากที่สุด เนื่องจากเป็นกลุ่มใหญ่ที่ลักลอบเข้ามาจากพรมแดนติดต่อกันและมีความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ
สาเหตุสำคัญที่ทำให้มีการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ได้แก่
- เรื่องปัญหาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ทำให้ประชากรจากประเทศเพื่อนบ้านต้องการมาทำงานที่ประเทศไทย เพราะประเทศไทยมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจมากกว่า มีการลงทุนและการพัฒนาทำให้มีการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงอัตราค่าจ้างที่สูงกว่า ทำให้มีโอกาสในการสร้างรายได้เพื่อดูแลครอบครัวมากกว่า
- การลักลอบเข้าเมืองทางช่องทางธรรมชาติทำได้ง่าย เพราะมีช่องทางเข้าออกหลายช่องทางทำให้ เจ้าหน้าที่ของไทยตรวจจับยาก โดยไทยมีเส้นแบ่งเขตแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ ได้แก่ เมียนม่า ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย และมีเขตแดนติดทะเล ได้แก่ ทะเลอันดามันและอ่าวไทยโดยพรมแดนที่เป็นแผ่นดินและแม่น้ำมีความยาวเป็นระยะทาง 5,647 กิโลเมตร โดยมีพรมแดนระหว่างไทยกับเมียนมา 2,401 กิโลเมตรใน 10 จังหวัด มีจุดผ่านแดน 9 จุด ด้าน สปป.ลาวมีพรมแดนติดกับไทย 1,810 กิโลเมตร ใน 11 จังหวัด และมีจุดผ่านแดน 19 แห่ง พรมแดนกับกัมพูชาเป็นระยะทาง 798 กิโลเมตร ใน 7 จังหวัด และพรมแดนไทยกับมาเลเซีย ระยะทาง 647 กิโลเมตรใน 4 จังหวัด ส่วนพรมแดนที่เป็นชายฝั่งทะเลมีความยาวประมาณ 3,151 กิโลเมตร ครอบคลุม 23 จังหวัดชายทะเลโดยชายฝั่งอ่าวไทยมีความยาวประมาณ 2,039 กิโลเมตร และชายฝั่งด้านอันดามันมีความยาวประมาณ 1,111 กิโลเมตร
- การจดทะเบียนเป็นแรงงานถูกกฎหมายมีขั้นตอนยุ่งยาก ใช้เวลานาน ไม่ยืดหยุ่น และมีค่าใช้จ่ายสูง การพิสูจน์สัญชาติ มีปัญหาภาระค่าใช้จ่ายสูงและการประชาสัมพันธ์ที่ไม่ทั่วถึง กฎเกณฑ์บางอย่างของภาครัฐที่ไม่สอดคล้องกับสภาพ ข้อเท็จจริง การบังคับใช้กฎหมายที่ยังขาดประสิทธิภาพ และมุ่งปฏิบัติต่อแรงงานมากกว่าผู้ประกอบการ ล้วนแต่เป็นอุปสรรคที่ไม่จูงใจให้ผู้ประกอบการและแรงงานต่างด้าวร่วมมือเข้าสู่ระบบ เมื่อเปรียบเทียบกับการที่สามารถอยู่และทํางานได้อย่างผิดกฎหมาย โดยที่เจ้าหน้าที่รู้เห็นเป็นใจแลกกับการเรียกรับผลประโยชน์ตอบ แทนจากผู้ประกอบการ/นายจ้าง รวมถึงตัวแรงงานเองด้วย นอกจากนั้น ยังมีปัญหาการสกัดกั้นการหลบหนี เข้าเมืองมีจุดอ่อน และปัญหาการทุจริตของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่มีความเข้มแข็ง ทำได้เพียงการผลักดันออกนอกราชอาณาจักรเท่านั้น
- การขาดการทำงานแบบบูรณการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กองบังคับการตำรวจน้ำกองทัพบก กองทัพเรือ ตำรวจภูธรภาค 1-9 ตลอดจนเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ที่ต้องมีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด และ บุคคลากรของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องมีความรู้ความสามารถทางด้านการป้องกันปราบปรามการลักลอบเข้าเมือง เช่น ทักษะด้านภาษาประเทศเพื่อนบ้าน ความรู้ความสามารถด้านสภาพภูมิศาสตร์ของแต่ละพื้นที่ และความรู้เกี่ยวกับการตรวจสอบหนังสือเดินทาง และต้องมีการความรู้เท่าทันด้านเทคโนโลยีสื่อสังคมออนไลน์ที่คนร้ายนำมาใช้ในการติดต่อสื่อสาร ซึ่งทำให้การติดตามสืบสวน/สอบสวนทำได้ยาก จำเป็นอย่างยิ่งที่เจ้าหน้าที่ของไทยต้องมีการพัฒนาความรู้เหล่านี้ เพื่อให้การปราบปรามการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายมีประสิทธิภาพและเด็ดขาดมากขึ้น
สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายอย่างยั่งยืนนั้น สามารถทำได้โดย
- การสร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับประชาชนตามแนวชายแดนของไทยที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านในลักษณะการพัฒนาความเข้มแข็งของแนวเศรษฐกิจพิเศษ การค้าบริเวณชายแดนทั้งในไทยและเพื่อนบ้าน เพื่อกระจายพื้นที่เศรษฐกิจไปอยู่ตามชายแดน ทำให้คนต่างด้าวไม่ต้องเดินทางเข้ามาหาอาชีพบริเวณพื้นที่เมืองในไทยและพื้นที่ในพื้นที่ชายแดนเติบโตไปด้วยกัน
- การเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน และเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ชายแดนให้มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร แจ้งเหตุ/เบาะแส การเข้าเมืองผิดกฎหมาย สร้างความไว้ใจซึ่งกันและกัน และตระหนักถึงภัยของการเข้าเมืองผิดกฎหมายว่า มีความสุ่มเสี่ยงอย่างมากที่ผู้หลบหนีเข้าเมือง ไม่ได้อยู่ในระบบการเข้าเมืองอย่างถูกกฎหมาย อาจนำพาไปสู่การใช้แรงงานและตกอยู่ในสถานการณ์การค้ามนุษย์ได้
- ควรมีฐานข้อมูลที่เป็นการบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆเพื่อการสืบสวนและจัดการกับขบวนการพาคนเข้าเมือง โดยผิดกฎหมายและคนต่างด้าวที่เข้ามากระทำความผิดในประเทศเช่น ภาพวงจรปิดที่ผู้ต้องสงสัยเดินทางไปในสถานที่ต่าง ๆ ธุรกรรมทางการเงิน ข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทาง การเข้าพักโรงแรมหรือสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งควรต้องเป็นฐานข้อมูลที่มีAI มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และควรพัฒนาอุปกรณ์ตรวจหนังสือเดินทางที่สามารถพกพา เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานนอกด่านหรือนอกสำนักงานสามารถตรวจสอบเบื้องต้นว่าเป็นคนต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมืองหรือไม่โดยอาจมีการเปรียบเทียบกับข้อมูลเอกลักษณ์บุคคล เช่น ลายนิ้วมือม่านตา และภาพถ่าย เป็นต้น
- กำหนดแนวทางปฏิบัติในการบูรณาการระหว่างหน่วยงานให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรม ได้แก่ ระหว่างสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกับหน่วยงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติและระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติกับหน่วยงานอื่น ๆเช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กระทรวงการต่างประเทศกรมกิจการชายแดนทหาร และกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น
- ปรับลดขั้นตอนการขึ้นทะเบียนแรงงานถูกกฎหมาย ให้มีความยืดหยุ่น ค่าใช้จ่ายไม่สูงมากนัก เพื่อให้ผู้ที่ต้องการใช้แรงงานสามารถจ่ายได้ ไม่ต้องลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย และไม่เปิดโอกาสให้ขบวนการลักลอบขนคนเข้าเมือง ใช้ช่องว่างดังกล่าวลักลอบขนแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งทั้งการแก้ปัญหาดังกล่าว ต้องมองให้ไกลกว่าด้านความมั่นคงแต่ต้องมองถึงประโยชน์ร่วมกัน เพราะประเทศไทยเองก็ต้องการแรงงาน ขณะที่แรงงานของประเทศเพื่อนบ้านก็ต้องการรายได้เพื่อเลี้ยงดูครอบครัวตัวเอง
- แก้ไขกฎหมายให้มีโทษที่รุนแรงขึ้นสำหรับนายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวที่หลบหนีเข้ามาในประเทศไทย เพื่อทำให้นายจ้างไม่กล้าที่จะจ้างคนต่างด้าวที่หลบหนีเข้ามาในประเทศ รวมถึงการแก้ไขกฎหมายโดยเพิ่มบทกำหนดโทษผู้กระทำความผิดที่มีลักษณะเป็นขบวนการที่ทำให้คนต่างด้าวหลบหนีเข้ามาในประเทศ นอกจากนี้จะต้องใช้มาตรการยึดทรัพย์ของผู้กระทำความผิดเหล่านี้ด้วย
ทั้งหมดเป็นภาพรวมเรื่องการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นทั้งวิกฤตแต่ก็มีโอกาสในเวลาเดียวกัน เพราะหากเราบริหารจัดการปัญหาได้ดี แรงงานเหล่านี้ก็สามารถเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ ขณะเดียวประชาชนของเพื่อนบ้านของเราก็สามารถมีรายได้ไปเลี้ยงดูครอบครัวของตัวเองและพัฒนาความเป็นอยู่ของพวกเขาให้มีความมั่นคงมากขึ้นเช่นกัน
เอกสารอ้างอิง
- การลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายในประเทศไทยของชาวเมียนมาร์ หลังจากการเปิดประชาคมอาเซียน (MYANMAR SMUGGLERS IN THAILAND AFTER THE OPENING OF ASEAN ECONOMIC COMMUNITY (AEC) – อนุชิต บุญรินทร์, วารสารนวัตกรรมสังคม ปีที่ 3 ฉบับที่ 1 มกราคม- มิถุนายน 2563
- แนวทางการแก้ไขปัญหาการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายในประเทศไทย – TSRI Policy Brief (หรือเอกสารบทสรุปเชิงนโยบาย) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
- หอการค้าฯ พอใจรัฐแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวตรงจุด รองรับการฟื้นฟูศก., 31 พ.ค. 66 https://www.infoquest.co.th/2023/305570
- ‘จีน-เมียนมา-ลาว-ไทย’ ส่งสัญญานเอาจริง! … ปราบปราม ‘จีนเทา’,13 กันยายน 2023
- สกัดจับชาวกัมพูชาลอบเข้าไทย 60 คน จ่ายค่านำพา 2-7 พันบาท อาชญากรรม ,10 พ.ย. 64 https://www.thaipbs.or.th/news/content/309545
- จับแรงงานข้ามชาติ ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย , 3 มิ.ย.64 https://www.thaipbs.or.th/news/content/304905
- แนวรุกแรงงานไทย เพิ่มมิติสิทธิต่างด้าว,12 มิ.ย. 2566 https://www.thairath.co.th/news/local/2700967?gallery_id=1