โดย – ศูนย์ประสานงานโครงการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชนเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (ศปสล.)

โลกในศตวรรษที่ 21 ได้ก้าวสู่การเป็นโลกไร้พรมแดนมากขึ้น จากการพัฒนาของวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี การขยายตัวของการค้าและการเงิน และการคมนาคมที่ทำให้การเคลื่อนย้ายของมนุษย์ง่ายขึ้น ซึ่ง ในด้านหนึ่งทำให้สังคมมนุษย์มีความสะดวกสบาย และมีการพึ่งพาอาศัยระหว่างกัน (interdependence) มากขึ้น

แต่ในอีกด้านหนึ่งก็นำมาซึ่งปัญหาใหม่ที่เรียกว่าเป็น ภัยคุกคามจากความมั่นคงรูปแบบใหม่ (NonTraditional Security: NTS) ที่ไม่ใช่ภัยคุกคามทางการทหาร แต่มีรูปแบบที่หลากหลาย สามารถแพร่กระจาย ได้อย่างรวดเร็ว และส่งผลกระทบต่อสังคมและผู้คนอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศ การขาดแคลนและแย่งชิงทรัพยากร โรคระบาด ภัยธรรมชาติต่างๆ การย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ การค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติด และอาชญากรรมข้ามชาติ ตลอดจนอาชญากรรมไซเบอร์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับความปกติสุขและความอยู่รอดของประชาชนและรัฐ

ความมั่นคงในรูปแบบใหม่นี้ มักมีลักษณะข้ามชาติ (transnational) จากตัวกระทำการ (actors) ที่หลากหลาย   ซึ่งรัฐ-ชาติไม่สามารถจัดการกับปัญหารูปแบบใหม่เหล่านั้นได้โดยลำพัง แต่จำเป็นที่จะต้องความร่วมมือระหว่างรัฐ และมีการแก้ไขปัญหาที่รอบด้านทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งนับเป็นความท้าทายของไทยในการบริหารจัดการปัญหาเหล่านี้ เพราะประเทศไทยเผชิญกับความมั่นคงรูปแบบใหม่ในหลายรูปแบบและจากหลายทิศทาง ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยที่แตกต่างกันทั้งการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนระหว่างประเทศ ภูมิศาสตร์ และ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี  โดยประเทศไทยเป็นทั้งต้นทาง ทางผ่าน ปลายทางของภัยคุกคามความมั่นคงรูปแบบใหม่ การเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับภัยคุกคามจึงสำคัญและจำเป็นมาก ซึ่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าวไม่สามารถมาจาก  “รัฐ” เพียงลำพังอีกต่อไป แต่ต้องมาจากความร่วมมือของ “ประชาชน”ด้วย

ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนจะต้องรู้เท่ากันปัญหาเหล่านี้ โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ชายแดน ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่หน้าด่านของปัญหา และเป็นที่ทราบกันดีกว่าพื้นที่ชายแดนมักเป็นพื้นที่อ่อนไหว มีช่องทางธรรมชาติในการลักลอบ/เคลื่อนย้าย สิ่งของผิดกฎหมายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด รถยนต์ สัตว์อนุรักษ์ ฯลฯ  และรวมถึงการค้ามนุษย์ และการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายด้วย

ทั้งนี้โครงการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชนเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งเป็นข้อเสนอโครงการของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากจากกองทุนความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 6 (Mekong-ROK Cooperation Fund: MKCF)  โดยมีวัตถุประสงค์ส่งเสริมการบูรณาการความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคให้มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้นเพื่อรับมือกับปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติในพื้นที่ชายแดนไทย-ลาว และ ไทย-กัมพูชา อย่างมีประสิทธิภาพและรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 1. ปัญหาการค้ามนุษย์  2.การลักลอบขนยาเสพติดข้ามแดน และ  3. การลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งทั้ง 3 ปัญหา ส่งผลกระทบทั้งโดยตรงและโดยอ้อมต่อสังคมไทยและประเทศเพื่อนบ้าน  เพราะ “เหยื่อ” ของอาชญากรรมเหล่านี้ คือ กลุ่มคนยากจน เปราะบาง ด้อยโอกาส จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องรู้เท่าทันอาชญากรรมเหล่านี้   

ปัญหาการค้ามนุษย์

การค้ามนุษย์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีความสลับซับซ้อน ซึ่งปัจจุบัน เปลี่ยนจากการบังคับใช้แรงงาน มาเป็นการบังคับให้กระทำผิดกฎหมาย (Forced Criminality)   โดยเฉพาะ กรณีแกงค์คอลเซ็นเตอร์ ที่มีการบังคับ ขู่เข็ญ การค้ามนุษย์ ซ่อนอยู่

รายงานฉบับใหม่ขององค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็น ประเมินว่ามีประชาชนหลายแสนคนจากทั่วโลก ถูกค้ามนุษย์ บังคับให้มาทำงานกับเครือข่ายอาชญากรรมทางออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตัวเลขของยูเอ็นระบุว่า เหยื่อค้ามนุษย์เหล่านี้อยู่ในเมียนมาอย่างน้อย 120,000 คน และในกัมพูชาอีก 100,000 คน ที่ถูกบังคับให้ทำงานหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต หรือที่คนไทยมักเรียกอาชญากรรมแบบนี้ว่า “แก๊งคอลเซ็นเตอร์ เหยื่อส่วนมากเป็นผู้ชายจากภูมิภาคเอเชีย แต่ก็มีบางส่วนที่มาจากแอฟริกา และละตินอเมริกา

โดยมากเหยื่อเหล่านี้ถูกลวงจากโฆษณาที่อ้างว่าให้ไปทำงานง่าย ๆ รายได้ผลตอบแทนสูง หลังจากนั้นก็ล่อลวงให้เข้าไปทำงานในกัมพูชา เมียนมา และประเทศไทย  เมื่อเหยื่อเดินทางไปถึงจะถูกคุมขังและบังคับให้ทำงานในสำนักงานของแก๊งหลอกลวงทางออนไลน์ ใครไม่ยอมทำงานให้ก็จะถูกคุกคามให้เกิดอันตราย หลายคนยังถูกทรมานและปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม  บางคนถูกทรมานถึงตาย และ บางคนหากทำงานไม่ได้ก็จะถูกทุบตี  ถูกช็อตด้วยไฟฟ้า และยังถูกนำไปขายให้กับอาชญากรกลุ่มอื่นๆ

สำหรับบริบทของประเทศไทย เรียกได้ว่า ประเทศไทยเป็นทั้ง ต้นทาง กลางทาง และปลายทางการค้ามนุษย์  โดยชายแดนไทยในปัจจุบันทั้ง  พม่า ลาว และ กัมพูชา ที่มีการปัญหาการค้ามนุษย์อย่างหนัก  โดยมีกลุ่มจีนเทาที่หนีการปราบปรามจากรัฐบาลจีน และมาปักหลักในประเทศไทย กัมพูชา  และ เมียนมาร์  จนนำมาซึ่งการปราบปรามอย่างเข้มข้น ด้วยการสนธิกำลังกันระหว่างของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้ง จากจีน ไทย เมียนมาร์ ลาว และ เวียดนาม  ที่มีการจับกุมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 เป็นต้นมา ที่เมืองชายแดนของประเทศเมียนมาร์ ซึ่งมีเหยื่อจำนวนมากทั้งคนไทย  กัมพูชา ลาว และ เวียดนาม  กล่าวได้ว่าปัญหานี้ถือเป็นปัญหาที่สำคัญของภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนถือว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมากในการให้ความร่วมมือแก้ปัญหาดังกล่าวให้ลดลงหรือหมดสิ้นไปในที่สุด

ปัญหาการค้ายาเสพย์ติด

ถือเป็นปัญหาที่คลาสสิคที่สังคมไทยต้องเผชิญมาอย่างยาวนาน และอีกครั้งที่พื้นที่ชายแดนคือ หน้าด่านของปัญหาเพราะเป็นช่องทางสำคัญในการลักลอบขนยาเสพติด โดยมีแหล่งผลิตสำคัญคือ สามเหลี่ยมทองคำ ที่มีชายแดนติดกับประเทศไทย เมียนมาร์และลาว  โดยวิกฤตยาเสพติดมีผลกระทบต่อสังคมอย่างกว้างขวางและเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไทยสูญเสียประชากรที่เข้มแข็งที่เป็นพลังของชาติ  กล่าวได้ว่า ปัญหายาเสพติดปัญหาสำคัญที่ถ่วงรั้งการเจริญเติบโตของสังคมไทย  เพราะประชาชนไม่มีคุณภาพ สังคมไม่ปลอดภัย จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ซึ่งประชาชนในพื้นที่ชายแดนสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างมาก ด้วยการแจ้งเบาะแสการลักลอบขนยาเสพติดข้ามแดน เพื่อสกัดกั้นไม่ให้ยาเสพติดทะลักเข้าประเทศไทย และไม่ให้ทำร้าย/ทำลาย สังคมไทยอีกต่อไป 

การลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย

ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนไทยและประเทศเพื่อนบ้าน  สาเหตุหลักมาจากปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องที่ทุกคนอยากมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  อย่างไรก็ตามด้วยกฎเกณฑ์การเข้าระบบเป็นแรงงานถูกกฎหมาย เป็นเรื่องที่มีขั้นตอนมากมาย  มีค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลานาน ทำให้ผู้ที่ต้องการทำงานอย่างถูกกฎหมายไม่สามารถรอได้ และเป็นที่มาของขบวนการลักลอบขนคนเข้าเมืองที่อาศัยช่องว่างเหล่านี้นำพาแรงงานผิดกฎหมายเข้าสู่ประเทศไทย  ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาตามมาอีกมาก เพราะเมื่อไม่มีการลงทะเบียน แรงงานเหล่านี้เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย อาจจะถูกละทิ้ง ไม่มีงานทำ ไม่มีทางเลือกและอาจกลายเป็นอันตรายต่อสังคม และบางส่วนอาจถูกชักจูงไปทำงานบริการและสุดท้ายอาจถูกหลอกและไปต้องจบที่การถูกบังคับให้มีการค้าบริการทางเพศและตกอยู่ในวงจรค้ามนุษย์ได้ 

อย่างไรก็ตามปัญหาการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ถือเป็นปัญหาที่พอจะมีแนวทางแก้ไขได้บ้าง ถ้าผู้กำหนดนโยบายและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพราะประเทศไทยเองก็ต้องการแรงงาน ซึ่งเป็นที่ขาดแคลนอย่างมากในภาคการเกษตร การบริการ และภาคอุตสาหกรรม  ที่มีการใช้แรงงานและคนไทยไม่ค่อยนิยมทำมากนัก ในขณะเดียวกันผู้ใช้แรงงานเหล่านี้เองก็ต้องการมีรายได้เพื่อเลี้ยงดูครอบครัวตัวเองและประเทศไทยมีการจ้างงานที่รายได้สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน 

เพราะฉะนั้น หากมีการบริหารจัดการปัญหาให้ดี อาจจะสามารถสร้าง win- win solutions สำหรับผู้ใช้แรงงานและผู้ประกอบการที่ต้องการแรงงานได้  ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลต่างๆได้พยายามแก้ไขปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง เช่นการให้มีการลงทะเบียนเป็นแรงงานถูกกฎหมาย  การทำข้อตกลงร่วมกัน MOU  ระหว่างประเทศต้นทาง (ลาว, พม่า, กัมพูชา) กับรัฐบาลไทยเกี่ยวกับการส่งแรงงานต่างด้าวให้ทำงานในประเทศไทย – สามารถทำงานในประเทศไทยได้ 2 ปี และต่ออายุได้อีก 2 ปี (รวม 4 ปี) หรือที่เรียกว่า แรงงาน MOU ที่มีการจัดทำขึ้นในช่วงวิกฤตโควิดและมีการขยายเวลาจนถึงปี 2568  ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าวสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้ 

ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับชีวิต ความเป็นอยู่ ปากท้องของประชาชน ทั้งททางตรงและทางอ้อม  การแก้ปัญหาต้องใช้การมีส่วนร่วมอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะจากประชาชนในพื้นที่ ที่เป็นผู้ที่รู้ปัญหาต่างๆดีที่สุด เมื่อปัญหาภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ มีเป้าหมายที่จะโจมตีประชาชนเป็นหลัก ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนเช่นกัน  ที่ต้องรู้เท่าทันปัญหาเหล่านี้และไม่ให้ตัวเองและคนใกล้ชิด/รอบตัว ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติ ไม่ว่าจะเป็น ขบวนการค้ามนุษย์  ขบวนการลักลอบค้ายาเสพติดข้ามแดน และ การลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย  ที่ทุกมิติของปัญหาเชื่อมโยงกับความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งหมด ทุกคนมีส่วนช่วยให้สังคมของเรารับมือต่อสู้กับภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ได้ เพื่อความปลอดภัยสังคมและเพื่อให้สังคมของเราอยู่ได้อย่างสงบสุข  

เอกสารอ้างอิง

  • โครงการวิจัยเรื่อง “ไทยกับความมั่นคงรูปแบบใหม่: การค้ามนุษย์ การย้ายถิ่นแบบไม่ปกติ อาชญากรรมข้ามชาติ และความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์  (Thailand and Non-Traditional Security: Human Trafficking, IrregularMigration, Transnational Crime, and Cyber Crime), 17 กุมภาพันธ์ 2563 โดยคณะผู้วิจัย  รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติ ประเสริฐสุข ,อาจารย์อนุสรณ์ ชัยอักษรเวชจินตวัฒน์ ศิริรัตน์ สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • Online Scam Operations and Trafficking into Forced Criminality in Southeast Asia: Recommendations for a Human Rights Response, https://bangkok.ohchr.org/wp-content/uploads/2023/08/ONLINE-SCAM-OPERATIONS-2582023.pdf
  • หอการค้าฯ พอใจรัฐแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวตรงจุด รองรับการฟื้นฟูศก., 31 พ.ค. 66 https://www.infoquest.co.th/2023/305570
  • Year in Review: Human Trafficking, Cyber Scams and the Government’s Response https://cambojanews.com/year-in-review-human-trafficking-cyber-scams-and-the-governments-response/