ทุกวันนี้สังคมของเราเปลี่ยนไปอย่างมาก มีภัยจากมิชฉาชีพต่างๆมากมาย ที่โจมตีเราแทบทุกทิศทุกทาง  โดยเฉพาะเรื่องภัยไซเบอร์ เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่มีการค้ามนุษย์ซ่อนอยู่ เรื่องยาเสพติดที่ทำให้ผู้เสพต้องกลายเป็นอาชญากรก่อคดีต่างๆ ทำให้สังคมของเรา  ไม่ปลอดภัย ต่างๆเหล่านี้คือ “ภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่”   ที่ไม่ได้เกี่ยวกับการทหาร การสงคราม หรือเป็น ความมั่นคงรูปเดิมๆอีกต่อไปแล้ว โดยภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ เป็นภัยที่มุ่งโจมตีชุมชนและประชาชนโดยตรง มีผลกระทบเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของประชาชน  เป็นภัยที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและขยายวงกว้างไม่มีที่สิ้นสุดและไม่มีพรมแดน 

ดังนั้นเมื่อภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่มีจำนวนมากบขึ้น การรับมือแบบเก่าๆ ด้วยตำรวจ ทหาร จึงไม่เพียงพออีกต่อไป  เราต้องหาวิธีการใหม่ๆจัดการกับปัญหาเหล่านี้  เพราะเพียงแค่ทหาร  ตำรวจ เจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานต่างๆ ไม่มีเพียงพออีกต่อไปแล้ว  เพราะฉะนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องแสวงหาแนวทางใหม่ๆ    เพื่อรับมือกับภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ นั่นก็คือ การสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนและประชาชน หรือ การสร้างความมั่นคงโดยประชาชน

เมื่อภัยพุ่งเป้ามาที่ “ประชาชน”  จึงต้องเป็น “ประชาชน”ที่ต้องรับมือกับภัยเหล่านี้ด้วยความเข้มแข็ง (Resilient) ด้วยการ “สร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศ” เพื่อปิดช่องทางการโจมตีของภัยคุกคามรูปแบบใหม่  ที่มักมีจุดเกิดเหตุที่บริเวณชายแดนระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นหน้าบ้าน/ประตูบ้านของประเทศ เพราะเมื่อชุมชนเข้มแข็ง หน้าบ้านเข้มแข็งก็จะไม่มีภัยใดๆผ่านเข้ามาได้ ซึ่งความเข้มแข็งและความมั่นคงเหล่านี้ต้องเกิดขึ้นพร้อมๆ กับความเข้มแข็งของเพื่อนบ้านและชุมชนระหว่างประเทศ/ชายแดน ของเราด้วย  โดยแนวคิด “การสร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศ” จะเป็นแนวทางหลักที่ทางศปสล. ดำเนินการโครงการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชนเพื่อรับมือความท้าทายด้านภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (NTS-Mekong Watch)

รู้จัก “โป่งน้ำร้อนโมเดล”

ทีม ศปสล. ได้รับเกียรติ จาก ดร.รัฐวิทย์  ตั้งเกียรติพชร นายกสมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งเป็นผู้ที่ให้แนวคิด/ปรัชญาการสร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศ ที่เปิดโอกาสให้ทางทีมได้ร่วมพูดคุยเพื่อหารือการขับเคลื่อนโครงการ NTS-Mekong Watch ทั้งนี้ ดร.รัฐวิทย์ เป็นบุคคลสำคัญในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการชายแดนให้ประชาชนสองฝั่งคู่ขนานอยู่ดีมีความสุขที่ได้รับการยอมรับทั่วประเทศ หรือที่รู้จักกัน คือ “โป่งน้ำร้อนโมเดล” ที่ ด่านถาวรบ้านแหลม  ต.เทพนิมิตร  อ. โป่งน้ำร้อน จ.จันทรบุรี  ซึ่งเป็นด่านชายแดนที่คนไทยและกัมพูชาอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข การค้าชายแดนมีความคึกคักต่อเนื่องมีมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นทุกปี แม้แต่ในช่วงโควิด19 ชายแดนแห่งนี้กลับมูลค่าการค้ายังพุ่งสูงถึง 39,000 บาท

นอกจากนี้พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นต้นแบบการจัดการแรงงานข้ามชาติ  โดยเฉพาะชาวกัมพูชา ให้เข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งแรงงานเหล่านี้สำคัญอย่างมากในการพัฒนาทางเศรษฐกิจของไทย ทั้งด้าน การเกษตร การค้า  และ การบริการ ซึ่งไทยต้องการแรงงานจากรประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างมาก และแรงงานเพื่อนบ้านก็ต้องการทำงานที่ประเทศไทยเพื่อเป็นรายได้ในการเลี้ยงดูครอบครัวเช่นกัน สถานการณ์ดังกล่าวจึงเป็น Win-win situation ที่ทุกคนได้ประโยชน์จากการบริหารจัดการชายแดนแบบโป่งน้ำร้อนโมเดล  โดยเฉพาะการใช้มาตรา 64  แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ในช่วงโควิด19 เพื่อนำเข้าแรงงานอย่างถูกกฎหมายในช่วงฤดูการเก็บผลผลิต ซึ่งมีผลให้เศรษฐกิจในพื้นที่ของ อ.โป่งน้ำร้อน และ อ.สอยดาว ที่มีการปลูกลำไยจำนวนมาก  สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตและส่งออกได้

ดร.รัฐวิทย์ บอกกับเราว่า เบื้องหลังความสำเร็จของการบริหารจัดการชายแดนของ “ปากน้ำร้อนโมเดล”คือการใช้หลักปรัชญา “การสร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศ”  ซึ่งสามารถเป็นคำตอบในการแก้ปัญหาต่างๆของพื้นที่ชายแดนได้ ถ้าพื้นที่ของชายแดนคู่ขนานเข้มแข็งและเติบโตไปพร้อมๆกัน เป็นการพัฒนาร่วมกัน ไม่ใช่ประเทศไทยโตอย่างเดียวแล้วประเทศกัมพูชาไม่ได้พัฒนาเลย ประเทศไทยเจริญเติบโตอย่างไรชายแดนกัมพูชาต้องเจริญเติบโตแบบนั้น  เราดูแลคนไทยอย่างไร เราต้องดูแลคนกัมพูชาแบบเดียวกัน การสร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศ จะมีช่วยเหลือในการพัฒนา การติดต่อปัญหาระหว่างประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง อาชญากรรม ยาเสพติด และเรื่องภัยคุกคามทุกระบบ  ถ้าเราทำตรงนี้ได้จะสามารถป้องกันปัญหาต่างๆโดยเฉพาะปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ที่มักเกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดน ดังนั้น การสร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศ จะเป็นเหมือนผงซักฟอกอย่างดีที่ไม่สามารถให้คราบน้ำมันมาเปรอะเปื้อนพื้นผิวต่างๆได้

 เปิดหลักการ 3 ข้อ สร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศ

 ดร.รัฐวิทย์ กล่าวต่อว่า โมเดลชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศ ทำไม่ยาก โดยแบ่งเป็น

  1. ต้องทำให้เขาได้รู้ว่าประเทศไทยมีกฎระเบียบอะไรบ้าง หรือเรียกว่าทั้งชุมชนของสองประเทศคู่ขนานต้องมีเรียนรู้กฎหมาย/ระเบียบซึ่งกันและกัน เพื่อที่จะได้เข้าใจบริบทต่างๆและไม่ทำผิดกฎหมายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์  
  2. เราต้องเป็นมีคุณธรรมและต้องยุติธรรม ต้องเน้นเรื่องการช่วยเหลือและไม่เอาเปรียบไม่หาประโยชนฺจากฝั่งคู่ขนาน
  3. การบังใช้กฎหมายต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติ เมื่อเขาเข้ามาอยู่ในประเทศเราแล้ว ต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติ  เราดูแลคนไทยอย่างไรเราต้องดูแลคนกัมพูชาแบบเดียวกันด้วย ถ้ามีการลงโทษก็ต้องลงโทษเหมือนกันให้ความเสมอภาคเหมือนกับเชาเป็นคนไทย

ดร.รัฐวิทย์ อธิบายแนวทางการสร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศ ให้เข้าใจมากขึ้นว่า ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเขามาเช่าห้องขายของ เราให้คนไทยเช่า 5,000 บาท เราก็ต้องให้คนกัมพูชาเช่าในราคา      5,000 บาทเหมือนกัน เพราะฉะนั้น คนกัมพูชาที่อยู่ฝั่งไทย คนไทยและคนกัมพูชาทำผิดอย่างไร ในระบบ/ระเบียบที่อยู่ร่วมกัน เราต้องลงโทษเหมือนกัน ส่วนการค้าขายใครจะมีลูกค้าอย่างไรก็เป็นเรื่องอิสระเสรี ทำแบบนี้เขาก็จะรู้ว่าชายแดนของจันทบุรี มีความเสมอภาคและเป็นชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศจริงๆ  

สำหรับการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ประเทศเพื่อนบ้านมีความยากหรือไม่อย่างไร  ดร.รัฐวิทย์ บอกว่า เรื่องนี้ไม่ยาก เพราะจริงๆแล้วนโยบายของรัฐบาลประเทศกัมพูชา ก็มีนโยบายให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานต่างๆ ของเขามาพบปะกับผู้ว่าราชการจังหวัดของเรา รวมถึงการให้หน่วยงานต่างๆของกัมพูชาระดับเจ้าหน้าที่ประสานกับเจ้าหน้าที่ตามชายแดนของไทย เพื่อการสร้างความร่วมมือร่วมกัน เพราะฉะนั้นประเด็นเรื่องการสร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศ จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้และทำได้  ไม่ได้คิดมโนจากจิตหรือการเขียน แต่เป็นการสอดคล้องกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของกัมพูชาและเจ้าหน้าที่ของเราและนโยบายของเขาก็มีนโยบายนี้

ใช้หลัก “ความสัมพันธ์และการค้า” นำหน้าหลัก”ความมั่นคง”

ดร. รัฐวิทย์ กล่าวต่อว่า เรื่องการสร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และควรต้องไปเป็นโมเดลในการใช้ชายแดนทั่วประเทศ ทั้งนี้ทุกวันนี้สิ่งที่ทำให้เราไม่สามารถดำเนินการได้สร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศได้ เพราะเราเอา “ความมั่นคง” นำหน้า  คำ 3 คำนี้ มันตีกรอบทุกเรื่อง และหยุดทุกเรื่อง แต่ส่วนตัวไม่ได้เอา “ความมั่นคง” นำหน้า แต่เอา “ความมั่นคง” มาเป็นกรอบ เป็นประตูตั้งไว้ แต่เรานำเรื่อง “ความสัมพันธ์และการค้า” นำหน้า  ซึ่งแก้ไขปัญหาความยากจน ทำให้คนมีความสุข ทุกข์ไม่มี พอทุกคนมีความสุข ความมั่นคงที่ตั้งอยู่ จะเป็นกำแพงที่แข็งมากโดยปริยายและภัยคุกคามต่างๆก็จะไม่สามารถเข้าในกำแพงที่มั่นคงนี้ได้  

สำหรับเป้าหมายเรื่องการสร้างความร่วมมือระหว่างประชาชนกับประชาชนเพื่อรับมือภัยคุกคามรูปแบบใหม่ด้วยกันนั้น  (NTS Mekong Watch)  ดร.รัฐวิทย์ ชี้ว่า เรื่องนี้ไม่ยากแต่มันอยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ /ความสัมพันธ์ระหว่างแดนตรงจุดนั้น เป็นเรื่องของผู้นำฝั่งเราฝั่งเขา ในระดับท้องถิ่น/ท้องที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน อย่างไรก็ตามไม่แน่ใจว่ากระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้มีคำสั่งให้ผู้ว่าฯ หรือเจ้าหน้าที่ที่อยู่ติดตามแนวชายแดน ได้มีการไปมาหาสู่ ประชุมความร่วมมือต่างๆหรือไม่ เป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจนหรือไม่ นี่เป็นสิ่งที่ภาคเอกชนกังวลอยู่ เพราะการสร้างกลไกให้ผู้นำท้องถิ่น เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มาพบปะกันเองเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ เพราะต้องมีส่วนราชการนำและให้ภาคเอกชนสานต่อ เพราะภาคเอกชนรู้จักกันอยู่แล้ว 

“สิ่งที่กังวลคือ กลัวว่าสุดท้ายจะติดเงื่อนไขเรื่อง “ความมั่นคง”  ซึ่ง 3 คำนี้ มันมีข้ออ้างอย่างมหาศาล  เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะทำได้  คือ ส่วนราชการต้องมีการประชุมหารือร่วมกัน และอาจให้ผู้นำท้องถิ่น/ท้องที่ติดตามไปด้วย เพื่อที่จะได้พบปะและพัฒนาร่วมกันไปต่อไปโดยจะเป็นการสื่อสารที่ผู้นำในพื้นที่สามารถพูดคุยกันเองได้ การสร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศ สามารถเป็นคำตอบในการแก้ปัญหาภัยคุกคามรูปแบบต่างๆ ได้อย่างยั่งยืน เพราะนี่คือ ผงซักฟอกอย่างดีที่จะล้างคราบสิ่งสกปรกและปัญหาต่างๆได้ เพราะฉะนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และคนต้องเข้าใจบริบท ผู้นำต้องเข้มแข็ง และต้องมีเจ้าภาพ แล้วต้องคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง

มหาดไทย – ทหาร – ภาคเอกชน ต้องเป็นเอกภาพ

“การสร้างความสัมพันธ์ชายแดนต่อชายแบบแนวทางการสร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างโป่งน้ำร้อนและพื้นที่ชายแดนกัมพูชา ตรงนี้ใช้เวลาประมาณ 8 ปี  ซึ่งแนวทางนี้สามารถทำได้หมดในทุกพื้นที่ชายแดน โดยกลไกที่สำคัญที่สุด คืออำเภอ กับ ทหาร หรือกระทรวงกลาโหม(กห.) และ มท. โดยถ้ามท.ตั้งใจทำและอำนาจเด็ดขาดอยู่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด (ผวจ.) กห.ก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเมื่อไหร่ มท.ไม่กล้าทำ (Action) กับพื้นที่ตามแนวชายแดนที่มีความสัมพันธ์ร่วมกัน และให้ทหารทำ( Action) ทุกอย่างจบหมด แต่ทั้งหมดนี้ต้องเติมเต็มด้วยภาคเอกชน เพราะถ้าทั้งมท. และ กห.แล้ว แต่การพูดคุยต่างๆก็เป็นไปแบบทางการ ไม่กล้าพูดเรื่องจริง เพราะบางทีติดขัดด้วยระบบราชการ แต่ถ้าภาคเอกชนเข้าไปเชื่อมเชาพูดได้หมด การร่วมมือกันจะเกิดขึ้นอย่างอย่างเป็นรูปธรรม”

ดร.รัฐวิทย์ กล่าว    

นายกสมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา กล่าวว่า  แรงบันดาลใจในการทำเรื่องนี้อย่างมากเพราะเป็นคนที่เติบโตในพื้นที่ชายแดนและเคยลำบากมาก่อน เพราะอยู่ในพื้นที่ที่เขมร 3 ฝ่ายรบกันและเมื่อก่อนคนชายแดนมักโดนดูถูกตลอด ทั้งหมดเหล่านี้ทำให้เราเข้าใจบริบทของพื้นที่ชายแดนอย่างมาก จึงตั้งใจที่จะพัฒนาชายแดนในทุกๆด้าน ทำทุกๆโมเดล ทำเองกับมือเหมือนเขียนตำราเอง อยู่หน้าไหนเรารู้หมด โดยตกผลึกเรื่องการสร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศ ตั้งแต่ช่วงก่อนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC ) ก่อนปี  2558  โดยในพื้นที่โป่งน้ำร้อนโมเดล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ของพื้นที่คู่ขนานร่วมมือกัน เรามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน พอเรามีคดีใหญ่ๆ เช่นการส่งผู้ร้ายข้ามแดนก็สามารถประสานให้เขาส่งมาได้เลย ไม่ต้องเป็นทางการ ถ้าคนกัมพูชามีปัญหาที่ฝั่งไทย เราก็จับส่งไปเลย ไม่ต้องเป็นทางการ

ทั้งหมดนี้เป็นภาพรวมแนวคิด “การสร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศ”ที่น่าจะทำให้เราได้เห็นภาพการบริหารจัดการพื้นที่ชายแดนที่ครอบคลุมทั้งมิติการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าชายแดน และมิติด้านความมั่นคงที่ทั้งสองฝั่งพื้นที่คู่ขนานมีความใกล้ชิดและมีความสัมพันธ์ที่ดี ที่สามารถแก้ปัญหาต่างๆให้คนพื้นที่ได้อย่างทันท่วงทีเพื่อให้คนในพื้นที่อยู่ได้โดยปกติสุขที่สุด