ศปสล. ลงพื้นที่สระแก้ว ศึกษาปัญหาชายแดนไทย – กัมพูชา เจาะลึกปัญหาคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย วิกฤตที่รอการแก้ไขให้เป็น Win -Win Solution สำหรับประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

ภายใต้การอำนวยการของ นางวจิราพร อมาตยกุล ผอ.วช. ได้มอบหมายให้ นางสาวธัญณิขา เหลิมทอง ผู้จัดการศูนย์ประสานงานโครงการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชนเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (ศปสล.) และคณะลงพื้นที่ตรวจติดตามการดำเนินโครงการ NTS- Mekong Watch ของ ทปค.อ. รวมถึงการศึกษาพื้นที่บริบทชายแดนในไทย – กัมพูชา ในพื้นที่ชายแดนของจังหวัดสระแก้ว ในระหว่างวันที่ 14-15 มีนาคม 2567 ณ พื้นที่จังหวัด สระแก้ว (ทปค.อ.คลองหาด, ทปค.อ.อรัญประเทศ และ ทปค.อ.) โดยโครงการฯได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลีใต้ (MKCF)

ทั้งนี้ ทปค.อ.ได้บรรยายสรุปผลการจัดตั้งศูนย์ประสานงานโครงการ NTS – Mekong Watch พบว่าการดำเนินงานเป็นไปด้วยดี มีการจัดตั้งจุดตรวจ/จุดสกัดต่างๆเพื่อป้องกันและปราบปรามสิ่งผิดกฎหมาย ปัญหาที่พบในพื้นที่ชายแดน คือ มีขบวนการแรงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองผ่านช่องทางธรรมชาติตลอดแนวชายแดน ปัญหาการลักลอบขนสินค้าหนีภาษี การขโมยรถจักรยานยนต์นำไปขายในประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น

ในการนี้ ศปสล. ได้ลงพื้นที่ศึกษาการบริหารจัดการชายแดนในหน่วยงาน/พื้นที่ต่างๆ ได้แก่ สำนักงานออกหนังสือผ่านแดนบ้านจังหวัดสระแก้ว จุดผ่านแดนถาวรบ้านเขาดิน จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก-ตลาดโรงเกลือ จุดผ่อนปรนการค้าบ้านหนองปรือ และ จุดผ่อนปรนบ้านตาพระยา และได้มีการพบปะหารือกับหน่วยงานต่างๆในการบริหารจัดการชายแดน อาทิเช่น เจ้าหน้าที่ตม. ทหาร ศุลกากร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ พบว่าการที่ประเทศกัมพูชาได้มีนโยบายให้ประชาชนใช้บัตรผ่านแดน (Border Pass) ในการข้ามแดนมายังประเทศไทย มีผลทำให้บรรยากาศการค้าชายแดนที่เป็นตลาดชุมชนมีความเงียบเหงาและต้องปิดตัวลงจำนวนมาก เนื่องจากการจัดทำบัตรผ่านดังกล่าวมีความยุ่งยากและใช้เวลานานทำให้ประชาชนเข้าถึงยาก ประชาชนทั้งสองฝั่งไม่สามารถไปมาหาสู่กันได้เหมือนแต่ก่อน และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีการขบวนการนำพาแรงงานกัมพูชาเข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งกระทบต่อชีวิตและความปลอดภัยของประชาชนทั้งสองฝั่ง โดยปัจจุบันจุดผ่านแดนต่างๆ กลายเป็นเพียงช่องทางสำหรับรถบรรทุกสินค้าจากบริษัทใหญ่ๆเท่านั้น

นอกจากนี้ ศปสล. ยังได้ลงพื้นที่สังเกตการณ์การทำประชาคมหมู่บ้านและได้ชี้แจงโครงการ NTS – Mekong Watch ให้กับประชาชน รวมถึงการศึกษาแนวช่องทางธรรมชาติไทย – กัมพูชา และได้พบกับ Mr. Sok Norn รองนายอำเภอ อ.มาลัย จ.ไพลิน ซึ่งเป็นเมืองคู่ขนานกับ อ.อรัญประเทศ ซึ่งได้ให้เกียรติมาต้อนรับและพูดคุยกับทีมงานซึ่งเคยพบกันในช่วงที่การประชุมเชิงปฏิบัติการสานสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ระหว่างผู้นำในพื้นที่ ตอกย้ำถึงความสัมพันธ์ที่ดีของผู้นำในพื้นที่ที่มีการติดต่อประสานงานทำงานต่างๆด้วยกันมาอย่างต่อเนื่อง

จากการลงพื้นที่ดังกล่าว ศปสล.ได้เห็นการนำแนวทางการบริหารจัดการชายแดนของพื้นที่ต่างๆ ที่สอดคล้องกับแนวทาง “การสร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศ” ที่โครงการฯขับเคลื่อน ทั้งเรื่องการมีผู้นำในพื้นที่ที่เข้มแข็ง เป็นที่พึ่งของประชาขน รวมถึงการใช้คุณธรรมนำการตัดสินใจในเรื่องที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชน ที่พบว่าผู้นำในพื้นที่ต่างเข้าใจเรื่องบริบทแรงงานกัมพูชาที่เข้ามาทำงานการเกษตรในประเทศไทย และเห็นพ้องกันว่าหากมีการบริหารจัดการได้ดี จะเกิดผลดีต่อทั้งสองฝ่าย เพราะประเทศไทยขาดแคลนแรงงาน ขณะที่ชาวกัมพูชาก็ต้องการรายได้ เรื่องดังกล่าวจึงเป็นประเด็นสำคัญที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรร่วมกันทางหาทางออกเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ชายแดนให้ดีขึ้นต่อไป