4- 8 ก.ย. 66 – อุบลราชธานี – จำปาสัก สสป.ลาว – กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เดินหน้าจัดการประชุมเชิงปฏิบัติสานสัมพันธ์ลุ่มน้ำโขง (Mekong Linkage : Connecting Nations, Linking People) (ไทย – ลาวใต้ ) ครั้งที่ 2 ภายใต้โครงการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนเพื่อรับความท้าทายด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ปีงบประมาณประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 4 – 8 กันยายน 2566 ณ จังหวัดอุบลราชธานี และเมืองคู่ขนาน แขวงจำปาสัก โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งฝั่งไทยและลาวจำนวน 90 คน ประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ปกครองระดับปฏิบัติการในพื้นที่ชายไทย ได้นายอำเภอ/ปลัดอำเภอ เจ้าเมือง/รองเจ้าเมือง กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน/นายบ้าน ผู้ทรงคุณวุฒิ
โดยฝั่งไทยประกอบไปด้วยพื้นที่ชายแดน 6 จังหวัด 15 อำเภอ ได้แก่ จังหวัดบึงกาฬ (อ.เมืองบึงกาฬ, อ.บุ่งคล้า) จังหวัดนครพนม (อ.บ้านแพง, อ.เมืองนครพนม,อ.ธาตุพนม,อ.ท่าอุเทน) จังหวัดหนองคาย(อ.รัตนวาปี) จังหวัดมุกดาหาร(อ.เมืองมุกดาหาร) จังหวัดอำนาจเจริญ (อ.ชานุมาน) และจังหวัดอุบลราชธานี (อ.เขมราฐ, อ.นาตาล, อ.โพธิ์ไทร,อ.โขงเจียม,อ.สิรินธร, อ.บุณฑริก)
ขณะที่ฝั่งลาว(ใต้) ประกอบไปด้วยพื้นที่ชายแดนจาก 5 แขวง 14 เมือง ได้แก่ แขวงบอลิคำไซ (เมืองปากซัน, ปากกระดิ่ง,ท่าพระบาท) แขวงคำม่วน (เมืองหนองบก,ท่าแขกหินบูน) แขวงสะหวันนะเขต (เมืองไกสอน-พมวิหาร,ไชพูทอง,สองคอน) แขวงสาละวัน (เมืองละครเพ็ง,คงเซโดน) แขวงจำปาสัก (เมืองชะนะสมบูน, โพนทอง, สุขุมา)
ทั้งนี้การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กองทุนความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 6 (Mekong-ROK Cooperation Fund: MKCF) ภายใต้การบริหารจัดการโครงการโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และ สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (Mekong Institute – MI) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการบูรณาการความร่วมมือระหว่างนายอำเภอและเจ้าเมือง รวมถึงผู้นำท้องที่ของไทยและสปป.ลาว พร้อมทั้งยกระดับบทบาทหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในระดับท้องที่ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ที่ใกล้ชิดประชาชาชนมากที่สุด รวมถึงการยกระดับกลไกความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการค้ามนุษย์ การลักลอบขนยาเสพติดข้ามแดน และ การเข้าเมืองผิดกฎหมาย ผ่านการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชนในพื้นที่ชายแดน และการดำเนินการความสัมพันธ์เชิงบวกอย่างสร้างสรรค์ ประกอบด้วยการบรรยายให้ความรู้โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง การแบ่งกลุ่มฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการโดยการร่วมกันจัด SWOT analysis เพื่อวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาสและภัยคุกคามในพื้นที่ชายแดนร่วมกัน การศึกษาดูงาน ณ สถานที่สำคัญ ทางประวัติศาสตร์และการท่องเที่ยวของ สปป.ลาว เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้มีการสานสัมพันธ์ความร่วมมือต่างๆในพื้นที่ในอนาคตต่อไป
ทั้งนี้การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ยังคงใช้รูปแบบการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 1 ซึ่งวันแรกจะมีการจัดอบรมเสริมสร้างศักยภาพเพื่อให้เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองของไทย ทั้งนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีความรู้ความเข้าใจรู้เท่าทันภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ในพื้นที่ชายแดน และการบริหารจัดการชายแดนเพื่อรับมือภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ รวมถึงการสร้างแรงบันดาลใจและการสร้างเสริมกำลังใจ (Empowered) ในการปฏิบัติงานในพื้นที่อย่างเข้มแข็ง เพื่อเป็นผู้นำในการสร้างการเปลี่ยนแปลง (Change Agent/ Change Heroes) ในการรับมือภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่เพื่อที่จะได้เป็นต้นแบบให้กับประชาชนในการป้องกันชุมชนในพื้นที่ชายแดน โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาให้ความรู้ ประกอบไปด้วยหัวข้อต่างๆ ได้แก่
- “พลวัตของภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” โดย พลเอกเจิดวุธ คราประยูร ปรึกษาด้านการทหารและความมั่นคงแห่งรัฐ
- “ความมั่นคงรูปแบบใหม่ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและบทบาทของฝ่ายปกครอง” โดย นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี
- “ปักหมุดสร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศ และการพัฒนาการค้าชายแดน เกราะกำบังภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่อย่างยั่งยืน” โดย ดร. รัฐวิทย์ ตั้งเกียรติพชร นายกสมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา จังหวัดจันทบุรี
- “กรมการปกครองกับกิจการด้านการรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่” ซึ่งวิทยากรประกอบไปด้วย เจ้าหพนักงานปกครองชำนาญจาก สำนักการสอบสวนและนิติการ ,สำนักกิจการความมั่นคง และ สำนักอำนวยการกองอาสารักษาดินแดน
จากนั้นทางคณะผู้นำฝ่ายปกครองของไทย ได้ข้ามฝั่งไปยัง เมืองปากเซ แขวงจำปาสัก ณ โรงแรมจำปาสัก แกรนด์ เพื่อร่วมเปิดพิธีการประชุมเชิงปฏิบัติสานสัมพันธ์ลุ่มน้ำโขง (ไทย- ลาวใต้) อย่างเป็นทางการ โดยได้รับเกียรติจาก นายสมศักดิ์ เจริญไพฑูรย์ รองอธิบดีกรมการปกครอง ฝ่ายความมั่นคง เป็นประธานในพิธีเปิด และมีท่านโสม บุดตะกุน รองเจ้าแขวงจำปาสัก (รองผู้ว่าราชการจังหวัดจำปาสัก) กล่าวต้อนรับในฐานะเจ้าบ้าน และมีผู้แทนกระทรวงต่างประเทศ สปป.ลาว ผู้แทนกงสุลใหญ่ของไทย ณ แขวงสะหวันนะเขต ผู้แทนกงสุลใหญ่ของ สปป.ลาว ณ จังหวัดขอนแก่น นางวจิราพร อมาตยกุล ผอ.วช. และผู้แทนมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้แทนมหาวิทยาลัยจำปาสัก และผู้แทนมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว และผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายท่านเข้าร่วมพิธี นอกจากนี้ ยังมีการทำกิจกรรมเวทีเสวนาและการทำกิจกรรม Workshop ภายใต้หัวข้อ “การขับเคลื่อนเสริมสร้างความสัมพันธ์ ระหว่างประชาชนกับประชาชนในพื้นที่ชายแดนไทย – ลาว”
นอกจากนี้ทางโครงการฯยังได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมสมอง ในการทำ SWOT analysis เพื่อวิเคราะห์ จุดแข่ง จุดอ่อน โอกาสและภัยคุกคามต่อความสัมพันธ์ไทย-ลาวใต้ ในระดับพื้นที่ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้มีโอกาสพูดคุยปัญหาต่างๆด้วยกันอย่างเป็นทางการในทุกๆมิติ เพื่อแสวงหาความร่วมมือในการทำงานกัน โดยมีการแบ่งกลุ่มพื้นที่ตามอำเภอที่อยู่ตรงข้ามกันตามแนวชายแดนเป็น 14 กลุ่มพื้นที่อำเภอคู่ขนาน เพื่อให้ผู้นำไทยและลาวได้หารือกันอย่างใกล้ชิดมากที่สุด ดังนี้
- กลุ่ม 1 อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ – เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ
- กลุ่ม 2 อำเภอบุ่งคล้า จังหวัดบึงกาฬ – เมืองปากกะดิ่ง แขวงบอลิคำไซ
- กลุ่ม 3 อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม – เมืองปากกะดิ่ง แขวงบอลิคำไซ
- กลุ่ม 4 อำเภอเมืองนครพนม – เมืองท่าแขก แขวงคำม่วน
- กลุ่ม 5 อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม – เมืองหนองบก แขวงคำม่วน
- กลุ่ม 6 อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม – เมืองหินบูน แขวงคำม่วน
- กลุ่ม 7 อำเภอรัตนวาปี จังหวัดหนองคาย – เมืองท่าพะบาด แขวงบอลิคำไซ
- กลุ่ม 8 อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร – นครไกสอนพมวิหาน แขวงสะหวันนะเขต
- กลุ่ม 9 อำเภอชานุมาน จังหวัดอำนาจเจริญ – เมืองไซพูทอง แขวงสะหวันนะเขต
- กลุ่ม 10 อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี – เมืองสองคอน แขวงสะหวันนะเขต
- กลุ่ม 11 อำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี – เมืองละคอนเพ็ง แขวงสาละวัน
- กลุ่ม 12 อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี – ละครเพ็ง แขวงสาละวัน
- กลุ่ม 13 อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี – เมืองคงเซโดน แขวงสาละวัน และเมืองซะนะสมบูน แขวงจำปาสัก
- กลุ่ม 14 อำเภอสิรินธรและบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี – เมืองโพนทองและเมืองสุขุมา แขวงจำปาสัก
โดยผลการหารือโดยสรุปพบว่า ทั้งสองฝั่งชายแดนคู่ขนานพบว่าชายแดนไทย- ลาวใต้ มีจุดแข็ง เรื่องวัฒนธรรม มีภาษาพูดใกล้เคียงกัน มีแหล่งน้ำโขงเป็นแหล่งอาหารที่ได้จาการประมงร่วมกัน มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกัน เป็นต้น ขณะที่จุดอ่อน พบว่า พื้นที่ชายแดนมีปัญหาการลักลอบค้าของผิดกฎหมาย โดยเฉพาะ รถจักรยานยนต์ ปัญหายาเสพติด ปัญหาการเข้าเมืองผิดกฎหมาย การลักลอบขนยาเสพติดในพื้นที่ ซึ่งบางประเด็นมีความละเอียดอ่อนทำให้ไม่ได้มีการอภิปรายลงลึกมากนัก เพราะมีความรู้สึกว่าอาจจะเกิดความสุ่มเสี่ยงว่าจะมีการกล่าวโทษกันว่ายาเสพติดระบาดมาจากประเทศคู่ตรงข้ามของตน ซึ่งควรอภิปรายด้วยความระมัดระวังเพราะเจ้าพนักงานของรัฐทั้งไทยและสปป.ลาว ต่างมองว่ายาเสพติดเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อชีวิตประชาชนในพื้นที่ของตน ซึ่งประเด็นเหล่านี้ ยังเป็นเรื่องที่ผู้นำในพื้นที่จะต้องหารือกันในพื้นที่ต่อไป
นอกจากนี้ทางโครงการยังได้จัดกิจกรรมฯ การเข้าเยี่ยมห้องว่าการแขวง จำปาสัก โดยมีท่านวันนะไซ ซาดตะกุน กรรมการพรรคแขวงและหัวหน้าห้องว่าการแขวงจำปาสัก ได้กล่าวต้อนรับและกล่าวแนะนำข้อมูลเบื้องต้นของแขวงจำปาสักรวมถึงฉายภาพความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างแขวงจำปาสัก และ ชายแดนไทย จากนั้น นายอุดมศักดิ์ นวลศิริ นายอำเภอ โขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานีได้กล่าวขอบคุณและทักทายผู้เข้าร่วมประชุมจากฝั่งแขวงจำปาสัก โดยบรรยากาศเป็นอย่างอบอุ่น เพราะเป็นการเยือนระดับผู้นำท้องที่ที่สำคัญที่มีผู้เข้าร่วมจากภูมิภาคชายแดนไทย และ ลาวใต้ รวมกัน 90 คน
ต่อจากนั้นเป็นกิจกรรมการศึกษาดูงานเพื่อกระชับความสัมพันธ์ของผู้นำในระดับพื้นที่ของทั้ง 2 ประเทศ ด้วยการไปศึกษาดูงานแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆของเมืองปากเซ ได้แก่ ปราสาทหินวัดพู ที่ราบสูงโบลิเวน เพื่อให้ผู้ร่วมประชุมได้ใช้เวลาในการทำความรู้จักและพูดคุยกันอย่างอิสระเป็นกันเอง เพื่อสร้างความใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น
หลังจากนั้นมีการสรุปการประชุมซึ่งผู้ร่วมประชุมต่างสนับสนุนแนวทาง “การสร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศ” ที่ส่งเสริมให้ประชาชนทั้งสองฝั่งคู่ขนานได้เรียนรู้กฎหมาย/ระเบียบปฏิบัติของกันละกัน รวมถึงการใช้คุณธรรม จริยธรรม นำการตัดสินใจ ในเรื่องที่เกี่ยวกับการเจ็บป่วย ความยากลำบากของประชาชน ยกเว้นเรื่องการกระทำผิดทางอาญาไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ยาเสพติด เรื่องการค้ามนุษย์ การค้าอาวุธสงคราม ที่ไม่สามารถยอมได้ และการบังคับใช้กฎหมายต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติ ว่าไม่ว่าใครทำผิดต้องได้รับการลงโทษเหมือนกัน ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการสร้างความไว้วางใจและสามารถติดต่อประสานงานกันอย่างใกล้ชิดต่อไป