3 พ.ย. 66 – สระแก้ว – เมืองเสียมราฐ กัมพูชา : กรมการปกครอง(ปค.) กระทรวงมหาดไทย(มท.) เดินหน้าจัดการประชุมเชิงปฏิบัติสานสัมพันธ์ลุ่มน้ำโขง (Mekong Linkage : Connecting Nations, Linking People) (ไทย – กัมพูชา) ภายใต้โครงการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนเพื่อรับความท้าทายด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ปีงบประมาณประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน ณ จังหวัดสระแก้ว และ จังหวัดเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งฝั่งไทยและกัมพูชา ประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ปกครองระดับปฏิบัติการในพื้นที่ชายไทย โดยมีนายอำเภอ/ปลัดอำเภอ กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน/นายบ้าน ผู้ทรงคุณวุฒิ และเจ้าหน้าที่จากกรมการปกครอง รวม 90 คน
โดยฝั่งไทยประกอบไปด้วยพื้นที่ชายแดน 7 จังหวัด 13 อำเภอ ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี (อ.น้ำยืน) จังหวัดศรีสะเกษ (อ.ภูสิงห์) จังหวัดสุรินทร์ (อ.กาบเชิง) จังหวัดบุรีรัมย์ (อ.บ้านกรวด) จังหวัดสระแก้ว (อ.อรัญประเทศ อ.ตาพระยา อ.คลองหาด) จังหวัดจันทรบุรี (อ.โป่งน้ำร้อน, อ. สอยดาว) และจังหวัดตราด (อ.บ่อไร่, อ.คลองใหญ่)
ขณะที่กัมพูชา ประกอบไปด้วยพื้นที่ชายแดนจาก 6 จังหวัด 13 อำเภอ ได้แก่ จังหวัดอุดรมีชัย (อ.อัลลองเวง, อ.สำโรง, อ.บันเตียอำปึล) จังหวัดบันเตียเมียนเจย (อ.โอโจรว, อ.มาลัย, อ.ทะมอพวก) จังหวัดพระตะบอง (อ.สำเภาลูน, อ.กร็อมเรียง, อ.พนมปรึก, อ.สำรูด) จังหวัดไพลิน (อ.ศาลากราว) จังหวัดเกาะกง (อ. มณฑลสีมา) จังหวัดพระวิหาร (อ.จอมกระสาน)
ทั้งนี้การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กองทุนความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 6 (Mekong-ROK Cooperation Fund: MKCF) ภายใต้การบริหารจัดการโครงการโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และ สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง(Mekong Institute – MI) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการบูรณาการความร่วมมือระหว่างนายอำเภอและเจ้าเมือง รวมถึงผู้นำท้องที่ของไทยและกัมพูชา พร้อมทั้งยกระดับบทบาทหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในระดับท้องที่ซึ่งถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุดและรู้ปัญหาในพื้นที่มากที่สุด รวมถึงการยกระดับกลไกความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการค้ามนุษย์ การลักลอบขนยาเสพติดข้ามแดน และ การเข้าเมืองผิดกฎหมาย ผ่านการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชนในพื้นที่ชายแดนอย่างสร้างสรรค์ พร้อมทั้งมีการจัดอบรมเสริมศักยภาพผู้นำในพื้นที่ในเรื่องการรู้เท่าทันภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง การแบ่งกลุ่มฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการโดยการร่วมกันจัด SWOT analysis เพื่อวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาสและภัยคุกคามในพื้นที่ชายแดนร่วมกัน การศึกษาดูงาน ณ สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และการท่องเที่ยวของกัมพูชา เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้มีการสานสัมพันธ์ความร่วมมือต่างๆในพื้นที่ในอนาคตต่อไป
ทั้งนี้การประชุมดังกล่าวถือเป็นการต่อยอดความสำเร็จ จากการประชุมเชิงปฏิบัติการสานสัมพันธ์ลุ่มน้ำโขง (ไทย-ลาว) ซึ่งจัดมาแล้ว 2 ครั้ง และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ระหว่าง ไทย – กัมพูชา ซึ่งยังคงใช้รูปแบบการประชุมเชิงปฏิบัติการเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา โดยมีการจัดอบรมเสริมสร้างศักยภาพเพื่อให้เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองของไทย ทั้งนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีความรู้ความเข้าใจรู้เท่าทันภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ในพื้นที่ชายแดน และการบริหารจัดการชายแดนเพื่อรับมือภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ รวมถึงการสร้างแรงบันดาลใจและการสร้างเสริมกำลังใจ (Empowered) ในการปฏิบัติงานในพื้นที่อย่างเข้มแข็ง เพื่อเป็นผู้นำในการสร้างการเปลี่ยนแปลง (Change Agent/ Change Heroes) ในการรับมือภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่เพื่อที่จะได้เป็นต้นแบบให้กับประชาชนในการป้องกันชุมชนในพื้นที่ชายแดน โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาให้ความรู้ ประกอบไปด้วยหัวข้อต่างๆ ได้แก่
- “พลวัตของภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” โดย พลเอกเจิดวุธ คราประยูร ที่ปรึกษาด้านการทหารและความมั่นคงแห่งรัฐ วุฒิสภา
- “ความมั่นคงรูปแบบใหม่ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและบทบาทของฝ่ายปกครอง” โดย นายวินัย โตเจริญ ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง
- “ปักหมุดสร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศ และการพัฒนาการค้าชายแดน เกราะกำบังภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่อย่างยั่งยืน” โดย ดร. รัฐวิทย์ ตั้งเกียรติพชร นายกสมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา จังหวัดจันทบุรี
- “กรมการปกครองกับกิจการด้านการรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่” ซึ่งวิทยากรประกอบไปด้วย สำนักการสอบสวนและนิติการ ,สำนักกิจการความมั่นคง และ สำนักอำนวยการกองอาสารักษาดินแดน
จากนั้นทางคณะผู้นำฝ่ายปกครองของไทย ได้ข้ามฝั่งไปยัง เมืองเสียมราฐ โดยมีการไปศึกษาดูการข้ามแดนและการขนส่งสินค้าข้ามแดน ณ จุดผ่านแดนถาวรบ้านหนองเอี่ยน – สตรึงบท อำเภออรัญประเทศ ซึ่งเป็นด่านชายแดนสำหรับขนส่งสินค้าที่สำคัญที่สุดของจังหวัดสระแก้ว และยังเป็นจุดยุทธศาสตร์การค้าชายแดนไทย-กัมพูชาในอนาคต
จากนั้น ยังมีการศึกษาดูงานการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ณ ศาลาว่าการจังหวัดบันเตียนเมียนเจย ในการนี้ ท่าน OUM REATREY ผู้ว่าราชการจังหวัดบันเตียเมียนเจย พร้อมด้วย รอง ผวจ. 6 ท่าน และภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ได้ให้การต้อนรับคณะอย่างอบอุ่นและได้พูดคุยปรึกษาหารือความร่วมมือในการดำเนินการโครงการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชนเพื่อรับมือภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงร่วมกัน
ต่อจากนั้นทางคณะได้เดินทางมาที่ โรงแรมเอ็มเพรส อังกอร์ รีสอร์ต แอนด์ สปา เพื่อร่วมเปิดพิธีการประชุมเชิงปฏิบัติสานสัมพันธ์ลุ่มน้ำโขง (ไทย- กัมพูชา) อย่างเป็นทางการ โดยได้รับเกียรติจากร้อยตำรวจโท ภพชนก ชลานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการปกครอง เป็นประธานในพิธีเปิด โดยมีดร.เลย์ จันทรรัศมี, ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศ กล่าวต้อนรับในฐานะเจ้าบ้าน และมีนายวินัย โตเจริญ ผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง และ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบันเตียเมียนเจย อุดรมีชัย พระวิหาร พระตะบอง เกาะกง และไพลิน และผู้แทนมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายท่านเข้าร่วมพิธี
ต่อจากนั้นได้มีการเสวนาเรื่อง “ความสัมพันธ์ไทย – กัมพูชา และการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชนในพื้นที่ชายแดนและการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าชายแดน” โดยมีวิทยากรจากตัวแทนของไทยและกัมพูชา ได้แก่ น.ส.เอกอร คุณาเจริญ อัครราชทูตไทย สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา, ดร.เลย์ จันทรรัศมี, ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศ , คุณกิ่งกาญจน์ เกียรติดำรงวงศ์ รองเลขาธิการหอการค้าจังหวัดสระแก้ว และคุณเชื้อง ชิลว์ เอิร์น ประธานหอการค้าบันเตียเมียนเจย โดยผู้เสวนาเห็นตรงกันว่าประเทศไทยและกัมพูชามีความใกล้ชิดกันทางวัฒนธรรมและควรร่วมมือกันพัฒนาเศรษฐกิจการค้าชายแดนให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนพื้นที่ชายแดนให้มีความมั่นคงสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของรัฐบาลไทยและกัมพูชาที่ได้มีการหารือแบบทวิภาคีระหว่างนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และหารือทวิภาคีกับสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนต (H.E. Samdech Moha Borvor Thipadei Hun Manet) นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา ว่า ทั้ง 2 ประเทศมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ที่จะส่งเสริมความร่วมมือมากยิ่งขึ้นทั้งการค้า การท่องเที่ยว การลงทุน การพัฒนาพื้นที่ชายแดน และภาคเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมกันอำนวยความสะดวกและเพิ่มปริมาณการค้า ให้บรรลุเป้าหมาย 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 68 จากสิ้นปี 65 ที่อยู่ที่ 8,664.5 ล้านดอลลาร์
ต่อจากนั้นเป็นการจัดทำ SWOT analysis เพื่อให้ผู้นำทั้งสองฝั่งได้มีโอกาสปรึกษาหารือถึงบริบทในพื้นที่ร่วมกันว่าในพื้นที่มีจุดแข็ง/จุดเด่น ร่วมกันอย่างไรบ้าง และอะไรยังเป็นจุดอ่อนที่ต้องร่วมกันแก้ไข รวมถึงวิเคราะห์ถึง โอกาสที่สามารถพัฒนาร่วมกัน และพิจารณาถึงภัยคุกคามที่ยังเป็นปัญหาและอาจจะขึ้นกับพื้นที่ของตัวเองได้ซึ่งการทำ SWOT analysis ที่เกิดขึ้น นับเป็นครั้งแรกๆที่ผู้นำชายแดนทั้งสองฝั่งได้มีโอกาสใช้เวลาร่วมกันพูดคุยกันทุกๆด้านแบบนี้ เพราะปกติกิจกรรมสานสัมพันธ์จะมีเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและกิจกรรมทางกีฬาเท่านั้น ไม่ค่อยได้มีโอกาสหารือเรื่องสภาพเศรษฐกิจสังคม และ ปัญหาความมั่นคงแต่อย่างใด
ครั้งแรก SWOT analysis ชายแดนไทย – กัมพูชา
- กลุ่ม 1 จังหวัดอุบลราชธานี (อ.น้ำยืน) จังหวัดศรีสะเกษ (อ.ภูสิงห์) – จังหวัดพระวิหาร (อ.จอมกระสาน) จังหวัดอุดรมีชัย (อ.อัลลองเวง)
- กลุ่ม 2 จังหวัดสุรินทร์ (อ.กาบเชิง) จังหวัดบุรีรัมย์ (อ.บ้านกรวด) – จังหวัดอุดรมีชัย (อ.สำโรง, อ.บันเตียอำปึล)
- กลุ่ม 3 จังหวัดสระแก้ว (อ.อรัญประเทศ – จังหวัดบันเตียเมียนเจย (อ.โอโจรว, อ.ปอยเปต, อ.มาลัย)
- กลุ่ม 4 จังหวัดสระแก้ว (อ.ตาพระยา อ.คลองหาด) – จังหวัดบันเตียเมียนเจย (ทะมอพวก) จังหวัดพระตะบอง (สำเภาลูน)
- กลุ่ม 5 จังหวัดจันทบุรี (อ.โป่งน้ำร้อน, อ. สอยดาว) – จังหวัดพระตะบอง (อ.กร็อมเรียง อ.พนมปรึก ) จังหวัด ไพลิน (อ.ศาลากราว)
- กลุ่ม 6 จังหวัดตราด (อ.บ่อไร่, อ.คลองใหญ่) – จังหวัดพระตะบอง (อ.สำรูด) จังหวัดเกาะกง (อ. มณฑลสีมา)
โดยผลการหารือโดยสรุปพบว่า ผู้นำท้องถิ่น/ท้องที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและพื้นที่มีวัฒนธรรมประเพณีที่เหมือนกัน ประชาชาในพื้นที่สามารถใช้ภาษาถิ่นสื่อสารกันได้ มีตลาดที่ทำให้ประชาชนสามารถแลกเปลี่ยนสินค้าได้อย่างเสรีและภาครัฐมีนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าชายแดนร่วมกันชัดเจน และในพื้นที่มีความร่วมมือกันในด้านมนุษยธรรม เช่น การส่งต่อผู้ป่วยชาวกัมพูชามารักษาในโรงพยาบาลในประเทศไทย
ขณะที่จุดอ่อนที่พบคล้ายๆกัน คือ พื้นที่ชายแดนมีลักษณะเป็นพื้นดินชนกัน ไม่มีอะไรกั้นทำให้เกิดปัญหาการเข้าเมืองผิดกฎหมาย ขณะที่โอกาสในการพัฒนาพื้นที่ร่วมกันพบว่า ปัจจุบันการเดินทางเข้า-ออก ของประชาชนในพื้นที่ในจุดผ่านแดนมีความสะดวกมากขึ้น เพราะมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเรื่องเส้นทางเพิ่มมากขึ้น สำหรับสิ่งที่ผู้นำทั้งสองพื้นที่มองว่าสิ่งที่เป็นภัยคุกคามในพื้นที่ คือ การที่ระบบกฎหมายของทั้งสองประเทศมีความแตกต่างกัน ประชาชนในพื้นที่ต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้ร่วมกันอีกมาก
จาก SWOT analysis ดังกล่าว ยิ่งทำให้เห็นชัดว่า แนวทาง “การสร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศ” ที่ทางโครงการฯได้ผลักดัน เป็นแนวทางที่อาจจะช่วยให้การบริหารจัดการชายแดนเป็นไปได้ดีมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งเสริม/สนับสนุนให้ผู้นำและประชาชนในพื้นที่ได้เรียนรู้กฎหมาย/กฎระเบียบของพื้นที่คู่ขนาน เพื่อหลีกเลี่ยงการทำผิดกฎหมายโดยไม่ได้ตั้งใจ การใช้คุณธรรมนำการตัดสินใจในเรื่องความเป็นความตาย การเจ็บป่วยของประชาชน เพราะความสัมพันธ์ของคนในพื้นที่จะรู้สึกแนบแน่นและผูกพันกันได้ต้องเรื่องที่ “ได้ใจ” ซึ่งกันและกัน และเรื่องความเจ็บป่วยก็เป็นหนึ่งในนั้น ที่ประชาชนช่วยเหลือกันทำให้คนในพื้นที่ชายแดนรักกันมากขึ้น
เจาะลึก “โป่งน้ำร้อนโมเดล” ต้นแบบ “การสร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศ”
สำหรับการประชุมครั้งนี้ทางโครงการได้ลงรายละเอียดเรื่องแนวทางการสร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศ เนื่องจากพื้นที่ต้นแบบของแนวคิดดังกล่าวอยู่ที่ชายแดนไทย-กัมพูชา จ.จันทบุรี ซี่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่ทำให้ผู้เข้าร่วมที่มาจากชายแดนโซนไทย-กัมพูชาเหมือนกันรู้สึกเชื่อมโยงและเห็นภาพได้
ทั้งนี้แนวทางการสร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศ เป็นแนวคิดที่เกิดจากต้นแบบการพัฒนาและการบริหารจัดการที่ด่านผ่านแดนถาวรบ้านแหลม จังหวัดจันทรบุรี โดยการผลักดันของทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน โดยมี ดร. รัฐวิทย์ ตั้งเกียรติพชร นายกสมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา จังหวัดจันทบุรี เป็นผู้เสนอแนวคิดและประสานหลักในการขับเคลื่อนแนวคิดนี้ โดยใช้พื้นที่จุดผ่านแดนถถาวรด่านบ้านแหลม อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี หรือที่รู้จักกันคือ “โป่งน้ำร้อนโมเดล” ที่มีประชาชนทั้งไทยและกัมพูชาอาศัยในพื้นที่ชายแดนด้วยกันอย่างมีความสุข
ที่ผ่านมาทางโครงการฯได้เชิญให้ ดร.รัฐวิทย์ เป็นวิทยากร ในการอบรมเรื่องการบริหารจัดการชายแดนให้กับผู้เข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่องทั้งการประชุมอบรมเสริมศักยภาพผู้ในท้องที่เรื่องการรู้เท่ากันภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ทั้ง 3 ครั้ง เพื่อให้ผู้นำพื้นที่ชายแดนของไทยได้เรียนรู้แนวทางการ “การสร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศ” เพื่อแก้ปัญหาภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ในพื้นที่ชายแดนอย่างยั่งยืน
อีกทั้งจุดผ่านแดนที่นี่ยังมีการจัดการปัญหาเรื่องงานอย่างเป็นระบบทำให้พื้นที่จันทบุรีไม่มีปัญหาการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย และการค้าขายชายแดนเป็นไปด้วยความคึกคัก แม้ในช่วงสถานการณ์โควิด 19cด่านชายแดนแห่งนี้ยังมียอดมูลค่าการค้าเกือบ 40,000 ล้านบาท และไม่มีปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคเกษตร เพราะมีการประกาศใช้มาตรา 64 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พศ.2560 นำเข้าแรงงานอย่างถูกกฎหมายในช่วงฤดูการเก็บผลผลิต โดยเฉพาะลำไย ทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่ไม่หยุดชะงัก และเป็นพื้นที่ที่แทบไม่มีปัญหาเรื่องความมั่นคงทางชายแดนเลย เพราะชาวบ้านในพื้นที่มีการสอดส่องดูแลพื้นที่กันอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้หลักการสำคัญที่นำพาด่านชายแดนบ้านแหลมมาถึงจุดนี้ ก็เพราะด้วยแนวทาง “การสร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศ” ที่ควรเป็นหลักให้ชุมชนชายแดนทั่วประเทศได้นำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ เพื่อที่จะเป็นแนวทางร่วมกันเพื่อให้ชายแดนอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข นั่นคือ
- พื้นที่คู่ขนานต้องมีการเรียนรู้กฎหมาย/ระเบียบซี่งกันและกัน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เข้าใจบริบทกฎหมายและไม่ทำผิดกฎหมายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
- ผู้นำในพื้นที่ต้องมีการใช้คุณธรรม จริยธรรม มนุษยธรรม นำการตัดสินใจ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับความเป็นอยู่ สุขภาพ การเจ็บป่วยของประชาชน แต่หากเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะเรื่องลักลอบค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ การลักลอบค้าอาวุธสงคราม เป็นต้น
- การบังคับใช้กฎหมายต้องไม่มีการเลือกตั้งปฏิบัติ ไม่ว่าคนไทยหรือคนกัมพูชาทำผิดต้องได้รับการลงโทษที่เท่าเทียมกัน เพื่อสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นในพื้นที่ ว่าทั้งสองฝั่งคู่ขนานได้รับการดูแลและปฏิบัติเหมือนกัน
การสร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศ เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ซึ่งด่านบ้านแหลมใช้เวลานานเป็น 10 ปี เพื่อผสานให้พื้นที่ชายแดนทั้งสองฝั่งคู่ขนานเป็นเนื้อเดียวกัน มีความใกล้ชิดกัน พัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ให้เข้มแข็งไปด้วย เพราะเมื่อชุมชนมีความเข้มแข็ง ภัยคุกคามต่างๆ ก็ไม่สามารถเข้าทำร้ายประชาชนในพื้นที่ได้และประชาชนเองก็เป็นหูเป็นตากับเจ้าหน้าที่ เพราะทุกคนก็ต้องการอยู่อย่างสงบสุข ต้องการทำมาหากิน และทุกคนก็มีรายได้เพียงพอและไม่มีแรงจูงใจให้ทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย เรียกได้ว่าเมื่อชุมชนชายแดนเข้มแข็ง ชายแดนก็จะมั่นคงด้วย
ปิดท้ายการสัมมนาด้วยกิจกรรมการศึกษาดูงานเพื่อกระชับความสัมพันธ์ของผู้นำในระดับพื้นที่ของทั้ง 2 ประเทศ โดยเดินทางไปเที่ยวชม “นครวัด – นครธม” ซึ่งเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก และเป็นสถานที่ที่ชาวกัมพูชามีความภาคภูมิใจสูงสุด โดยบรรยากาศเป็นไปด้วยความชื่นมื่น เพราะเป็นช่วงเวลาที่ผู้นำท้องที่ของไทยและกัมพูชาได้แลกเปลี่ยนรู้วัฒนธรรมกัน โดยมีบางช่วงบางตอนที่ผู้นำกัมพูชาได้เป็นคนนำทางและอธิบาย/-ขยายความเรื่องราวต่างๆของศิลปะที่สะท้อนวิถีชีวิตต่างๆในนครวัดให้ผู้นำคนไทยฟังด้วยตัวเองด้วยความภาคภูมิใจ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นช่วงเวลาคุณภาพที่เราได้เปิดโอกาสให้ผู้นำที่สำคัญในพื้นที่ชายแดน ทั้งอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่ ได้ผูกมิตร ผูกใจซี่งกันและกัน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชนเพื่อรับมือความท้าทายด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ในลุ่มน้ำโขงร่วมกันต่อไป