ศูนย์ประสานงานโครงการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชนเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (ศปสล.) กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้พบปะหารือร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อแสวงหาแนวทางความร่วมมือและขอคำแนะนำรวมถึงการประเมินสถานการณ์ล่าสุดสำหรับภับคุกคามรูปแบบใหม่ต่างๆ ในบริบทปัจจุบันในมุมมองของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินโครงการมีความครอบคลุมและเห็นภาพแนวทางการบริหารจัดการชายแดนเพื่อรับมือภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่และหาต้นแบบการพัฒนา (Best Practice) เพื่อเป็นต้นแบบที่สามารถนำไปประยุกต์กับพื้นที่อื่นๆในพื้นชายแดนไทย-ลาว และ ไทย-กัมพูชา ที่ประชาชนทั้งสองฝั่งคู่ขนานอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข โดย ศปสล. ได้พบกับบุคคลและหน่วยงานต่างๆดังต่อไปนี้
พลตำรวจเอก ดร.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (ในขณะนั้น ) รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ และมีผลให้ประเทศไทยพ้นจาก Tier 2 Watchlist เป็น Tier 2 ได้เน้นย้ำว่าโครงการฯต้องให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องแผนประทุษกรรม (Criminality) ที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติด และการเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่ได้เน้นเรื่องการค้ามนุษย์ที่ปัจจุบันเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบการบังคับให้กระทำผิดกฎหมาย ( Forced Criminality) โดยเฉพาะแก๊งคอลเซ็นเตอร์ต่างๆ ที่เป็นวิกฤตใหญ่ในภูมิภาคอาเชียน และเห็นว่าต้องมีการพัฒนา application การแจ้งเหตุที่ทันสมัย ให้ประชาชนเข้าถึงได้
พลโท นพนันต์ ชั้นประดับ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร การหารือทำให้ได้ทราบว่า กอ.รมน. ไม่มีบทบาทโดยตรงในการจัดปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงชายแดน แต่เป็นหน่วยสนับสนุนที่สามารถเรียกหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่มาร่วมมือกันแก้ปัญหาได้ และได้ให้คำชี้นำ เรื่องความอ่อนไหว ของการนิยามคำว่า “ความมั่นคง” เพราะเป็นคำที่อ่อนไหว การสื่อสารต้องมีความระมัดระวัง
นายรัชพล มณีเหล็ก ผู้อำนวยการกลุ่มคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ กองต่อต้านการค้ามนุษย์ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ (พม) ได้ให้มุมมองว่า การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่ดีที่สุด คือ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ประชาชนสามารถเลี้ยงครอบครัวได้ รวมถึงต้องให้การศึกษาเรื่องภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ ให้กับเด็กๆ เพื่อให้เท่าทันภัยเหล่านี้ เพราะจะมีพลวัตเปลี่ยนไปตลอด
นายโชติพันธ์ จุลเพชร ผอ.ศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัย สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพย์ติด (ปปส.) ระบุว่า เป้าหมายสูงสุดของ ปปส. คือ ประชาชนไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นงานที่หนัก เพราะการค้ายาเสพติดมีการปกปิดและทำกันเป็นขบวนการ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันทางปปส. เอง มีโครงการฯที่คล้ายกับ ศปสล. ในการเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยการสนับสนุนงบประมาณแก่สำนักงานประสานแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดน (Border Liaison Office – BLO) จำนวน 28 แห่ง ชายแดนร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีชายแดนติดกับประเทศไทย ได้แก่ กัมพูชา เมียนมา และ สปป.ลาว โดยจะมีการจัดประชุมประสานงานแลกเปลี่ยนข่าวสารด้านยาเสพติดในพื้นที่ชายแดนระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน และหน่วยงานปราบปรามในพื้นที่และ สรุปสถานการณ์ยาเสพติด และแนวโน้มในพื้นที่ชายแดนด้านเคมีภัณฑ์การค้า การลักลอบนำเข้า ร่วมกัน
คุณอภิญญา ทาจิตต์ จากองค์กร สเตล่ามาริส (Stella Maris) สังฆมณฑลจันทบุรี ได้รับเลือกให้รับรางวัล TIP Heroes ในฐานะผู้ทำงานด้านการช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมการประมงไทย ได้ให้คำชี้แนะ เรื่องภาพรวมการค้ามนุษย์ในปัจจุบันว่ามีความซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงโควิดฯที่ผ่านมา ที่ผู้เสียหายจำนวนมากตกเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น การให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องภัยคุกคามรูปแบบใหม่ต่อประชาชนจึงสำคัญมาก เรื่องข้อบ่งชี้ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ควรมีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องในเรื่องนี้ และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่ชายแดนมีบทบาทสำคัญอย่างมากที่ต้องให้ความรู้เหล่านี้กับชาวบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้คนในชุมชนชายแดนต้องตกเป็นเหยื่อแก๊งค์ค้ามนุษย์
ดร.รัฐวิทย์ ตั้งเกียรติพชร นายกสมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย – กัมพูชา จันทบุรี ผู้ริเริ่ม “ปากน้ำร้อนโมเดล” และ เป็นผู้ให้แนวคิดการสร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศ (Best practice) จาก ด่านชายแดนบ้านแหลม อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทรบุรี เสนอว่า การสร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศ จะช่วยให้พื้นที่คู่ขนานอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ถ้าชุมชนเข้มแข็ง เศรษฐกิจแข็งแรง ภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ก็ไม่สามารถเข้าถึงชุมชนและทำร้ายประชาชนและทำลายสังคมได้ โดยหลักการสร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศ มีหลัก 3 ข้อ ดังต่อไปนี้
- ต้องมีการให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องกฎระเบียบของพื้นที่คู่ขนาน : ประชาชนในพื้นที่คู่ขนานต้องมีความรู้ความเข้าใจข้อห้ามต่างๆเพื่อหลีกเลี่ยงการทำผิดกฎหมายในพื้นที่ตรงข้ามโดยไม่จำเป็น หรือทำผิดกฎหมายเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์
- ต้องใช้คุณธรรม มนุษยธรรม นำการตัดสินใจ : ในพื้นที่ชายแดนซึ่งเป็นพื้นที่อ่อนไหวและมีหลากหลายปัญหา บางครั้งการใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่สามารถทำได้ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของประชาชน เรื่อง การรักษาชีวิต ผู้นำในพื้นที่ต้องใช้คุณธรรม/มนุษยธรรมนำการตัดสินใจ เพื่อให้ประชาชนสามารถมีชีวิตได้อย่างปกติสุขที่สุด ยกเว้นเรื่องที่เป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่ต้องมีการบังใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็ง
- การบังคับใช้กฎหมายต้องมีมาตรฐานเดียวกัน หรือเรียกว่า “ดูแลคนของประเทศตัวอย่างไร ต้องดูแลคนของประเทศคู่ขนานแบบเดียวกัน” ใครทำผิดต้องได้รับการลงโทษอย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ เพื่อสร้างความไว้วางใจให้กันและกัน ว่าทุกคนจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน
ทั้งหมดนี้อาจจะกล่าวสั้นๆได้ว่าการบริหารจัดการพื้นที่ชายแดนเพื่อที่จะสร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศเพื่อให้พื้นที่คู่ขนานได้รับการพัฒนาอย่างเท่าเทียมเป็นเนื้อเดียวกันนั้น ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบายและดูแลพื้นที่ต้องใช้หลัก “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา”