ศปสล. ตรวจติดตามโครงการ NTS –Mekong Watch จันทบุรี ศึกษาพื้นที่ต้นแบบ “สร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศ” สร้างความมั่นคงชายแดน ปิดทางภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่อย่างยั่งยืน

ภายใต้การอำนวยการของ นางวจิราพร อมาตยกุล ผอ.วช. ได้มอบหมายให้ นางสาวสุขุมาลย์ วิริโยธิน ผอ.สวท. นำคณะเจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานงานโครงการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชนเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (ศปสล.) ลงพื้นที่ตรวจติดตามการทำงานของ ทปค.อ. ในระหว่างวันที่ 11-13 มีนาคม 2567 ณ พื้นที่จังหวัดจันทบุรี (ทปค.อ.โป่งน้ำร้อน, ทปค.อ.สอยดาว) เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชนเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (NTS-Mekong Watch) ซึ่งเป็นโครงการที่กรมการปกครองได้รับการสนับสนุนงบประมาณทั้งหมดจากกองทุนความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลีใต้ (MKCF) รวมถึงการศึกษาพื้นที่ต้นแบบ (Best Practice) เพื่อบันทึกภาพและวิดิทัศน์ “การสร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศ” ซึ่งทางโครงการ ได้เลือกพื้นที่ชายแดน จ.จันทบุรี เป็นพื้นที่ต้นแบบ

ทั้งนี้ ทปค.อ.ได้บรรยายสรุปผลการจัดตั้งศูนย์ประสานงานโครงการ NTS – Mekong Watch ว่ามีการดำเนินเป็นไปด้วยดี ซึ่งพบว่าในพื้นที่ทั้งสองอำเภอ ไม่มีปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการค้ายาเสพติดข้ามแดน ปัญหาการค้ามนุษย์ เพราะมีการบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่อย่างเข้มแข็ง และไม่มีปัญหาการเข้าเมืองผิดกฎหมายมากนัก เพราะแรงงานส่วนใหญ่เข้ามาทำงานตามฤดูกาลแบบไป-กลับ ตามมาตรา 64 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ซึ่งทางคณะฯได้ลงพื้นที่เก็บภาพวิถีชีวิตแรงงานกัมพูชา ที่มาทำงานด้านการเกษตรในพื้นที่ด้วย

ศปสล. ยังได้ลงพื้นที่ศึกษาจุดผ่านแดนถาวรบ้านแหลม และ บ้านผักกาด และจุดผ่อนปรนการค้าซับตารี เพื่อศึกษาบริบทการค้าพื้นที่ชายแดนและได้หารือและสัมภาษณ์ ดร.รัฐวิทย์ ตั้งเกียรติพชร นายกสมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย – กัมพูชา ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการสร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศ ซึ่งมีหลักการสำคัญ คือการเรียนรู้กฎหมายระเบียบต่างๆ ซึ่งกันและกัน รวมถึงการมีความเห็นอกเห็นใจกัน มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อสร้างพื้นที่ชายแดนให้มีความไว้เนื้อเชื่อใจและเข้มแข็งไปด้วยกันทั้งทางสังคมและทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ทางคณะฯ ยังได้ลงพื้นที่ดูการตั้งด่านแบบบูรณาการในการตรวจสิ่งของผิดกฎหมาย ที่สามแยกบ้านแหลม ซี่งเป็นการตั้งด่านแบบบูรณาการร่วมกันของฝ่ายปกครองและหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ ทั้งนายอำเภอ ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อส. ชรบ. ตำรวจ ทหาร ตม. และ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข รวมถึงการลาดตระเวนร่วมกันของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายปกครอง โดยเฉพาะ ชรบ.ของไทย ร่วมกับทหารกัมพูชา ในพื้นที่หลักเขต 55- 56 บริเวณใกล้จุดผ่อนปรนการค้าบ้านบึงชนังล่าง ซึ่งแสดงถึงความเป็นเอกภาพของเจ้าหน้าที่ของไทยในการจัดการชายแดนและเห็นถึงความสัมพันธ์ที่ดีของเจ้าหน้าที่ไทยและกัมพูชา ซึ่งทำให้การบริหารจัดการชายแดนและการป้องกันภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

จากการลงพื้นที่ครั้งนี้ ศปสล. ได้เห็นภาพแนวทางการส่งเสริมการสร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศมากขึ้นและจะพยายามนำความรู้ความเข้าใจดังกล่าวมาประชาสัมพันธ์เพื่อขยายแนวทางนี้ให้ปักหมุดในพื้นชายแดนอื่นๆต่อไป ตามหลักการบริหารจัดการชายแดนแบบมีส่วนร่วมและครอบคลุม เพื่อให้เป็นไปตามพันธกิจของกรมการปกครองการสร้างพื้นที่เข้มแข็งเพื่อให้ประชาชนอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขในสังคมที่มั่นคง ปลอดภัย อย่างยั่งยืน มากที่สุด