โครงการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชนเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Enhancing People-to-People Connectivity to Address Non-traditional Security Challenges in the Mekong Region: NTS – Mekong Watch) เรียกสั้นๆว่า โครงการ NTS -Mekong Watch เป็นข้อเสนอของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนความร่วมมือลุ่มน้ำโขง – สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 6 (Mekong-ROK Cooperation Fund: MKCF) มีเป้าหมายเพื่อบูรณการทำงานร่วมกันในพื้นที่ชายแดน ระหว่างชายแดน ไทย-ลาว ไทย-กัมพูชา ตั้งแต่ เชียงราย ถึง ตราด เพื่อรับมือและจัดการภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาการค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติดข้ามแดน และ การเข้าเมืองผิดกฎหมาย
สำรวจ NTS ลุ่มน้ำโขง
ทั้งนี้เราทราบกันดีว่าว่าพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ไทย เมียนมาร์ ลาว และ กัมพูชา เป็นพื้นที่ที่เป็นแหล่งซ่องสุมของปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรัง และวิกฤตมากๆ โดยเฉพาะเรื่อง การหลอกลวงทางออนไลน์ที่มีการค้ามนุษย์ซ่อนอยู่ โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้าน ที่รายงานสหประชาชาติระบุว่า มีเหยื่อที่ตกอยู่เครือข่ายการค้ามนุษย์ที่ถูกบังคับให้ทำการหลวงลวงออนไลน์ ที่ประเทศเมียนมาร์ 100,000 คน และ กัมพูชา 120,000 คน
โดยผู้เหยื่อเหล่านี้ ถูกบังคับให้หาเหยื่ออย่างน้อยวันละ 100 คน ไม่เช่นนั้นจะถูกลงโทษในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการถูกเฆี่ยนตี การใช้ไฟฟ้าช็อต การให้อดอาหาร ดังนั้น หากคำนวนตัวเลขเบื้องต้น 220,000 x 100 เท่ากับว่าจะมีผู้ตกเป็นเป้าหมายในการหลอกลวงวันประมาณ 20 ล้านคน ซึ่งประเทศไทยเป็น Target ที่ใกล้ที่สุด โดยมาในรูปแบบการหลอกลวงออนไลน์ต่างๆที่เล่นกับความรู้สึก รัก กลัว และ โลภ โดยล่าสุดเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มีประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อขบวนการดังกล่าว สูญเสียทรัพย์ถึง 25 ล้านบาท
โดยประเทศไทยเป็นจุดผ่านที่สำคัญในอาชญากรใช้ในการล่อลวงคนไปทำงานหลอกลวงออนไลน์ในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเหยื่อเหล่านี้มาจากหลากหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งจำนวนมากก็เชื่อตามโฆษณาที่หลอกลวงต่างๆ งานออนไลน์ รายได้ดี มีที่พักอาศัยฟรี และบินมาที่ประเทศไทย และถูกส่งตัวไปที่ชายแดน และยึดโทรศัพท์กับพาสปอร์ตไว้ เรียกได้ว่าประเทศไทยเป็นทางผ่านที่ทำให้อาชญากรรมเหล่านี้เกิดขึ้น และเป็นผลทำให้คนไทยต้องอยู่กันอย่างหวาดผวาจากแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ และออนไลน์สแกมที่มาในรูปแบบต่างๆ และล่อลวงให้เหยื่อ รัก กลัว โลภ จนต้องเสียเงินเสียทองเป็นจำนวนมาก
เปิดรายได้ออนไลน์สแกมสูงเกือบห้าแสนล้าน
โดยรายงานของสหประชาชาติระบุว่า ออนไลน์สแกม สามารถทำรายได้ถึงปีละ 8.7- 12.5 Billion US หรือเท่ากับประมาณ 262,500 – 437,500 ล้านบาทหรือประมาณเกือบครึ่งของ GDP ของประเทศในภูมิภาคนี้ ซึ่งไม่แปลกใจกับตัวเลขนี้เลย โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีข่าวถูกหลอกลวงจากแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ทุกวัน
ทั้งนี้ศูนย์บริหารรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีการเก็บสถิติตัวเลขคดีหลอกให้รักและโอนเงินออนไลน์ (Romance scam) ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 รวมจำนวน 1 ปี 11 เดือน พบว่า มีคดีที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับ Romance scam จำนวน 3,323 คดี มีความเสียหายมากกว่า 1,154 ล้านบาท คิดเฉลี่ยความเสียหายคดีละประมาณ 34,752 บาท นับว่าเป็นการสูญเสียที่ไม่ควรเกิดขึ้นจากการหลอกลวงบนโลกออนไลน์
ไม่นับรวมถึงเรื่องยาเสพติด ที่ประเทศไทยก็เป็นจุดกระจายยาที่สำคัญของโลก โดยปกติจับได้ 10 ล้านเม็ด ก็ถือว่าเยอะแล้ว แต่ปี 2566 ที่มีการจับยาบ้ารวมแล้วสูงถึง 500 ล้านเม็ด เห็นได้ว่าสถานการณ์รุนแรงมากขึ้นหลายเท่า นำมาสู่ปัญหาผู้ป่วยจิตเวชที่กลายเป็นปัญหาสังคมไม่ปลอดภัยกันทั่วหน้า โดยเฉพาะคนคลุ้มคลั่ง ทำร้ายพ่อ แม่ ลูก เพื่อนบ้าน ภรรยา กลายเป็นเป็นปัญหาสังคมของไทยที่วิกฤตมากขึ้นทุกวัน เพราะยาบ้าปัจจุบันทำด้วยสารเคมีที่ทำลายสมองอย่างรวดเร็ว
ภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ VS การแก้ปัญหารูปแบบใหม่
ทั้งหมดทั้งปวงเหล่านี้ เป็นภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ (Non – Traditional Security) ไม่ใช่เป็นภัยความมั่นคงแบบเก่าแบบดั้งเดิม (Traditional Security) ที่เป็นเรื่องความมั่นคง ที่ใช้กำลังทหาร การสงครามอีกต่อไป แต่เป็นภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ที่เป้าหมายเป็นประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่เปราะบาง มีความยากจน เป็นภัยที่มีความสลับซับซ้อน มีการแบ่งงานกันทำอย่างเป็นระบบ (Transnation crimes syndicate) เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แพร่กระจาย และไม่มีพรมแดน
ดังนั้น การแก้ปัญหาจึงต้องใช้กระบวนทัศน์และแนวทางรูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่แบบเดิมอีกต่อไป (Non – Traditional Approach) เป็นแนวทางการสร้างความมั่นคงรูปแบบใหม่ เพื่อต่อต้าน/รับมือ ภัยที่ต้องการโจมตีประชาชน ดังนั้น การแก้ปัญหาจึงต้องมาจากประชาชน ที่ต้องลุกขึ้นมาจัดการภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ด้วยตัวเอง ดังนั้น การแก้ปัญหาจึงต้องมาจากประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนซึ่งเป็นพื้นที่อ่อนไหว ห่างไกล ต้องเจอกับภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ในทุกรูปแบบทั้งทางตรงและทางอ้อม และที่สำคัญพื้นที่ชายแดนเหล่านี้เป็นเหมือนหน้าบ้าน/ทางเข้าบ้าน ของประเทศไทย
เปิดหลักการ 3 ข้อ สร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศ
การแก้ปัญหาจึงเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างพื้นที่ชายแดนทั้งสองฝั่งคู่ขนานให้แข็งแรง ตามแนวทางการ “การสร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศ” (Building Strong Cross – Border Communities) ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ข้ามช็อตและครอบคลุมทุกประเด็น ได้ ซึ่งการสร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศ จะเป็นเกราะกำบังภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่อย่างยั่งยืน โดยหากพื้นที่ชายแดนเข้มแข็งก็จะสามารถรับมือและจัดการภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ได้และภัยต่างๆก็จะไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้
ดังนั้น การสร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศ จึงเป็นการบริหารจัดการชายแดนแบบมีส่วนร่วมและครอบคลุม( Comprehensive Security Border Management) ทั้งด้าน สังคม วัฒนธรรมและ เศรษฐกิจ และความมั่นคง
ทั้งนี้ หลักในการสร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศมีหลักการ 3 ข้อคือ
1. การส่งเสริมให้พื้นที่คู่ขนานได้เรียนรู้กฎหมาย/กฎระเบียบของกันและกันในพื้นที่คู่ขนาน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เข้าใจกฎหมายต่างๆร่วมกันและจะไม่ทำผิดกฎหมายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
2. การใช้คุณธรรมนำการตัดสินใจ ในเรื่องที่เกี่ยวกับความเป็นความตาย ความเดือดร้อน ความเป็นอยู่ของประชาชน
3. การบังคับใช้กฎหมายโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ หากประชาชนในพื้นที่คู่ขนานทำผิดต้องได้รับการลงโทษเหมือนกัน เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันในพื้นที่ และทำให้พื้นที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและกลายเป็นผืนเดียวกัน
จะเห็นได้ว่าแนวทางการสร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศ เป็นแนวทางที่สามารถนำมาใช้ในพื้นที่ชายแดนต่างๆได้ โดยเรามีพื้นที่ต้นแบบที่ทำเรื่องนี้ได้สำเร็จ นั่นคือ พื้นที่ ด่านชายแดนบ้านแหลม อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ติดกับ อ.กร็อมเรียง จ.พระตะบอง ของกัมพูชา ซึ่งประชาชนคนไทย และ กัมพูชา สามารถอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข แม้กระทั่งช่วงโควิด19 ที่หลายพื้นที่มีการปิดด่านชายแดน แต่พื้นที่ดังกล่าวได้เรื่องยกเว้นโดนพร้อมประชาชนทั้งสองฝั่งคู่ขนานได้ปฏิบัติตามข้อบังคับช่วงโควิดระบาดอย่างเข้มงวด เพื่อเศรษฐกิจในพื้นที่เดินต่อไปได้ ทำให้มูลค่าการค้าชายแดนด่านบ้านแหลมสูงถึง 39,000 ล้านบาท
ทางโครงการฯมีเป้าหมายในการส่งเสริมการสร้างพื้นที่ต้นแบบ “การสร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศ” ในพื้นที่ชายแดนต่างๆทั่วประเทศ และเชื่อว่าหลักการดังกล่าว สามารถนำไปใช้ในพื้นที่ชายแดนได้ทุกพื้นที่ชายแดนเพื่อให้พื้นที่คู่ขนานอยู่ด้วยกันอย่างมีความสงบสุข