เมื่อวันพุธที่ 10 กรกฎาคม 2567 เวลา 10.00 น. ภายใต้การอำนวยการของ นางวจิราพร อมาตยกุล ผอ.วช. ได้มอบหมายให้ นางสาวสุขุมาลย์ วิริโยธิน ผอ.สวท.และคณะเจ้าหน้าที่ศูนย์ประสานงานโครงการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชนเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (ศปสล. )จัดการอบรมออนไลน์เพื่อเสริมสร้างความรู้เท่าทันภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ผ่านการประชุมระบบทางไกล (Zoom Meeting )โดยมี บุคลากรสังกัดกรมการปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ในอำเภอเป้าหมาย 44 อำเภอ ชายแดนไทย – ลาว ไทย-กัมพูชา เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง

การอบรมออนไลน์ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 2 หัวข้อ “รวมพลังสามัคคีระดับภูมิภาค : ขับเคลื่อนการรับมือภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” (Unite Regional Unity: Driving Efforts to Tackle Non-Traditional Security Threats in the Mekong Region) โดยได้รับเกียรติจาก ดร. อาร์ม ตั้งนิรันดร รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิทยากรในการบรรยาย

ทั้งนี้ ผู้บรรยายได้ชี้ให้เห็นว่าผลจากความขัดแย้งและเกิดสงครามการค้าของมหาอำนาจระหว่างสหรัฐ และ จีน ทำให้ทั้งสองประเทศต้องการลดความเสี่ยงจากการผูกขาดทางเศรษฐกิจต่อกัน โดยหันไปลงทุนในภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งรวมถึงภูมิภาคอาเซียนที่จีนและอเมริกาต่างอยากเข้ามาลงทุนในภูมิภาคนี้ ซึ่งถือเป็นยุคทองของภูมิภาคอาเซียน ประเทศไทยต้องรักษาเสถียรภาพให้ประเทศมีความมั่นคงในทุกๆด้านเพื่อดึงดูดนักลงทุน ไม่เป็นสวรรค์ของอาชญากรรมข้ามชาติ เพราะคงไม่มีประเทศใดอยากลงทุนในประเทศที่มีปัญหาเหล่านี้ ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้นำและประชาชนในพื้นที่ต้องช่วยกันสอดส่องเฝ้าระวังอาชญากรรมต่างๆในพื้นที่ชายแดน

นอกจากนี้ ดร.อาร์ม ยังได้ระบุว่าภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเผชิญกับภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่รอบด้าน ทั้งปัญหาการค้ายาเสพติด เรื่องการหลอกลวงออนไลน์ รวมไปถึงเรื่องภัยความมั่นคงทางด้านอาหาร ทางด้านพลังงานและ ด้านทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะจากการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าของประเทศจีนในลำน้ำโขงหลายแห่ง ที่คาดกันว่าจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนริมฝั่งโขงทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นทางการ ทำให้ไม่สามารถเสนอการคัดค้านและหยุดการก่อสร้างเขื่อนเหล่านี้ได้ เพราะข้อมูลเรื่องผลกระทบไม่เพียงพอ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นอย่างมากที่ประชาชนในพื้นที่จะต้องช่วยกันเฝ้าระวัง ติดตามผลกระทบจากการสร้างเขื่อนเหล่านี้จากฐานอย่างใกล้ชิด เพราะประชาชนในพื้นที่จะรู้ผลกระทบที่เกิดขึ้นมากที่สุด เพื่อที่จะเป็นข้อมูลให้กับรัฐบาลในการกำหนดนโยบายที่เหมาะสมกับพื้นที่และประเทศไทยต่อไป

ทั้งนี้สำหรับการอบรมครั้งที่ 3ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายของกิจกรรมนี้ จะมีขึ้นในวันพุธที่ 14 สิงหาคม 2567 เวลา 10.00 น. ในหัวข้อ “การสร้างรับรู้…สู่การปฏิบัติ : แนวทางการสร้างพลเมืองและการผลักดันนโยบาย เพื่อการรับมือภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” (From Awareness to Action: Building Active Citizenship and Policy Advocacy to Tackle NTS in the Mekong)

#NTSMekongWatch
#AwarenessToday
#SecureTomorrow
#ปกป้องพื้นที่ชายแดนเท่ากับปกป้องคนทั้งประเทศ

###