หมายเหตุ – พลเอกเจิดวุธ คราประยูร ในฐานะที่ปรึกษาด้านการทหารและความมั่นคงแห่งรัฐ วุฒิสภา บรรยายหัวข้อ “พลวัตของความมั่นคงรูปแบบใหม่ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” ในการประชุมเชิงปฏิบัติการสานสัมพันธ์ไทย-ลาภายใต้โครงการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชนเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง วันที่ 17 กรกฎาคม 2566 ณ โรงแรมพันล้าน บูทีค รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย โดยมีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้
เปิดภาพมิติความมั่นคงในรูปแบบต่างๆ
โลกในยุคปัจจุบันนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่เพียงแค่โลกของเราได้ก้าวเข้าสู่ยุคที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์ในต้นทศวรรษที่ 1990 ซึ่งการปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวแสดงที่เป็นรัฐและไม่ใช่รัฐที่เกิดข้ามเส้นเขตแดนนั้นเป็นไปอย่างรวดเร็ว กว้างขวางและเข้มข้นซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของยุคโลกาภิวัตน์เท่านั้น หากแต่โลกต้องเผชิญกับวิกฤตการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ COVID 19 ซึ่งถือว่าโลกได้ก้าวเข้าสู่ความเป็นปกติใหม่ (New Normal) ในต้นทศวรรษที่ 2020 อีกด้วย การวางแผนยุทธศาสตร์ตั้งแต่ในระดับชาติเป็นต้นไปจนถึงระดับโลกจึงต้องทบทวนวิธีการนิยามความหมายความมั่นคงใหม่โดยเฉพาะเมื่อโลกใบนี้ถือว่าอยู่ในยุคสมัยแห่งความไม่แน่นอน กล่าวคือความมั่นคงแบบเดิมซึ่งโลกเคยเผชิญเมื่อก่อนทศวรรษที่ 1990 นั้นอาจล้าสมัยและเปลี่ยนแปลงเป็นความมั่นคงในรูปแบบใหม่ที่ปรากฏในทศวรรษที่ 2020
โดยแบ่งประเด็นการบรรยายดังนี้ ประการที่แรก ภัยคุกคามในลักษณะผสมผสาน (Hybrid Threats) ประการที่สองมิติต่าง ๆ ของความมั่นคงองค์รวม (STEEPM) ประการที่สาม ความสำคัญของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Mekong Subregion) ประการที่สี่คือ ประเด็นสำคัญในพื้นที่จังหวัดชายแดนในอนุภูมิลุ่มน้ำโขง (Critical Issues Involving the Mekong Sub-region Affecting Thailand Provinces) และประการสุดท้ายคือข้อเสนอแนะในการดำเนินการสำหรับจังหวัดชายแดนไทยในพื้นที่อนุภาคลุ่มน้ำโขง
ในประเด็นแรก สงครามลูกผสม (Hybrid warfare) จะประกอบไปด้วยตำรวจทหารตามปกติ หน่วยรบพิเศษ และกองกำลังที่ไม่ใช่ทหาร การสนับสนุนจากประชาชนในท้องถิ่น สงครามข้อมูลข่าวสารและการโฆษณาชวนเชื่อ การทูต การโจมตีทางไซเบอร์และสงครามเศรษฐกิจ
ในประเด็นที่สอง แนวคิดและมิติต่าง ๆ ด้านความมั่นคงองค์รวม (STEEPM) National Comprehensive Security ในเรื่องที่เกี่ยวกับประเทศชาติ มีหลากหลายมิติ ที่เรียกว่า STEEPM ประกอบไปด้วย
- ความมั่นคงด้านสังคม (Societal Security)
- ความมั่นคงด้านเทคโนโลยี (Technology Security)
- ความมั่นคงเศรษฐกิจ(Economic Security)
- ความมั่นคงสภาวะแวดล้อม(Environment Security)
- ความมั่นคงทางการเมือง(Political Security)
- ความมั่นคงทางทหาร (Military Security)
เริ่มจากความมั่นคงทางสังคม (societal security) ที่ครอบคลุมประเด็นเรื่องเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ วัฒนธรรม (ethnicity and culture) ศาสนาและความเชื่อ (religions and beliefs) ความแตกแยกทางความคิด (disunity) ความสามัคคีปรองดอง (social cohesion) การมีส่วนร่วม (inclusiveness) ธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ (good governance) รวมไปจนถึงการจัดการเรื่องความเท่าเทียม การรักษาสิทธิชนกลุ่มน้อย ปัญหาผู้อพยพ แรงงานต่างด้าว การค้ามนุษย์ และอาชญากรรมข้ามชาติ
ต่อมาในเรื่องความมั่นคงทางเทคโนโลยี (technology security) จะประกอบไปด้วยเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย (emerging technology) ภัยคุกคามทางไซเบอร์ (cyber security/resilience) สงครามการข่าวสาร (information war) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้ข่าวปลอมในการสร้างความเข้าใจผิดในสังคม การรักษาความปลอดภัยและการดำเนินการข่าวกรององค์รวมโดยเทคโนโลยี (comprehensive security and intelligence gathering) ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ก็ถูกกล่าวถึงในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบตามพระราชบัญญัติและประสานการปฏิบัติงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชนไม่ว่าในสถานการณ์ทั่วไปหรือสถานการณ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงและป้องกันรักษาโครงสร้างพื้นที่ที่สำคัญ เช่น ด้านพลังงานและการคมนาคม ความมั่นคงเศรษฐกิจ (economic security) ความมั่นคงสภาวะแวดล้อม (environmental security) ความมั่นคงการเมือง (political security) ความมั่นคงการทหาร (military security)
ในประเด็นเรื่องความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (economic security) จะประกอบไปด้วยความเหลื่อมล้ำ ทางเศรษฐกิจ (economic inequality) ความยากจน (poverty) การค้าขายแบบผิดกฎหมาย (illicit trades) ขบวนการเครือข่ายผิดกฏหมาย (organised crime network) การค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ การลักลอบค้า ของเถื่อน (drug/human trafficking and smuggling) ทั้งหมดเหล่านี้ก่อให้เกิดการคอรัปชันเชิงระบบและทำให้การบังคับใช้กฎหมายขาดประสิทธิภาพ เพื่อรักษาความอยู่ดีกินดีและความมั่นคงของรัฐไทยจึงต้องประสานงาน กับรัฐอื่นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในการเฝ้าระวังภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ในการเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ รัฐไทยยังมีนโยบาย Bio Circular and Green Policy (BCG) และแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจในแบบยั่งยืนและทั่วถึง
ประเด็นที่สามคือความมั่นคงด้านสภาวะแวดล้อม (environment security) ประกอบไปด้วยเรื่องภูมิอากาศรวน (climate change) ผลกระทบจากอุณหภูมิเฉลี่ยที่เพิ่มสูงขึ้น ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มมากขึ้น สภาพอากาศรุนแรงซึ่งส่งผลต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติ (natural disasters) อาทิ ภัยน้ำท่วม ภัยแล้ว พายุ แนวทางรับมือจึงประกอบไปด้วยการใช้พลังงานทดแทนและการจำกัดคาร์บอน นอกจากนี้ยังมีเรื่องการตัดไม้ทำลายป่า (deforestation) ซึ่งส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ แหล่งที่อยู่อาศัยถูกทำลาย การปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ วิธีการรับมือประกอบไปด้วยโครงการปลูกป่าและการอนุรักษ์ป่าสงวน
การบริหารจัดการน้ำ ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจใจ เนื่องจากหากบริหารจัดการน้ำไม่ดีจะก่อให้เกิดภาวะการขาดแคลนน้ำ ภาวะมลพิษ ความขัดแย้งในการแย่งน้ำ ณ จุดนี้จึงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติขึ้นมา ทั้งหมดทั้งมวลนี้อาจสรุปได้ว่าความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม (environment degradation) และการขาดแคลนทรัพยากรอาจทำให้เกิดความตึงเครียดทางการเมือง สังคมจึงควรตระหนักถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม (environment protection) การพัฒนาแบบยั่งยืน (sustainable development) และการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงรักษาทรัพยากร (resource based economic development)
ประเด็นถัดไปคือความมั่นคงทางการเมือง (Political security) ประกอบไปด้วยปัจจัยที่ควรคำนึงถึงคือ การบริหารจัดการแบบธรรมาภิบาล (good governance) ตามหลักนิติรัฐ (rule of law) ที่จะทำให้เกิดความมั่นคงทางการเมือง (political stability) หลักการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (deliberative democracy and inclusiveness) ตลอดจนการคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน สิทธิในการแสดงความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมทางการตัดสินใจก็เป็นเรื่องสำคัญ หากสังคมปราศจากสภาวะเหล่านี้จะก่อให้เกิดการแบ่งขั้วทางการเมือง (political polarization) การประท้วงแบบใช้ความรุนแรง และความไม่สงบทางสังคม (unrest) ดังนั้นจึงควรมีการปฏิรูปทางการเมือง (political reform) ซึ่งมีสถาบันทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพ (effective political institution) และมีความรับผิดชอบ (accountability) มีองค์กรยุติธรรมและการจัดการเลือกตั้งที่เป็นอิสระและโปร่งใสในฐานะวิธีการแก้ไขปัญหา เมื่อใดก็ตามที่การเมืองมาถึงภาวะทางตัน
ประเด็นความมั่นคงกระแสหลักคงจะหนีไม่พ้นความมั่นคงทางด้านการทหาร (Military security) ที่จะไม่กล่าวถึงก็คงไม่ได้ สิ่งที่ต้องหมั่นพิจารณาตรวจสอบคือขีดความสามารถทางทหารของกองทัพของรัฐตน (military capabilities) สถานการณ์ทางทหารในอนุภูมิภาค (regional defense dynamics) ความขัดแย้งด้านแนวชายแดน เส้นเขตแดน (regional territorial disputes) ภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ (new security challenges) ก็ยังถูกกล่าวถึง แม้ว่าโดยตัวของมันเองจะไม่ใช่ภัยคุกคามรูปแบบใหม่เสียทั้งหมด เช่นการก่อการร้ายข้ามชาติ การใช้สื่อเป็นอาวุธทางการเมือง (Weaponised social media) สงครามการข่าวสาร (information warfare) ภัยคุกคามทางไซเบอร์ (cyber warfare) และภัยคุกคามทางอวกาศ (space warfare) วิธีการร่วมมือคือจำเป็นต้องมีการร่วมมือทางทหารของภูมิภาคและมีคณะกรรมการประสานงานชายแดน (General Border Committee and Township Border Committee)
ภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกับปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่
ทั้งนี้พื้นฐานของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและความสำคัญของแม่น้ำโขงนั้น ต้นกำเนิดมาจากการละลายน้ำแข็งและหิมะของที่ราบสูงทางตอนเหนือของดินแดนทิเบตและมณฑลชิงไห่ของสาธารณรัฐประชาชนจีนจนกำเนิดแม่น้ำสามสายคือแม่น้ำแยงซีเกียง แม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำโขง ในส่วนของแม่น้ำโขงเองที่ไหลผ่านบริเวณมณฑลต่างของจีน ชาวจีนจะเรียกว่าแม่น้ำหลานชางเจียงซึ่งไหลผ่านมณฑลยูนนานเข้าสู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมียนมาและไทยบริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่มีปัญหาการลักลอบค้าสิ่งผิดกฎหมายข้ามชายแดน (cross border trafficking) ทั้งการค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติดข้ามชาติ การลักลอบค้าสิ่งผิดกฎหมายอื่น ๆ การลักลอบค้าสัตว์ป่าต้องห้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐไทยที่เป็นทั้งปลายทาง แหล่งพักและต้นทางของขบวนการผิดกฎหมายเหล่านี้ แนวชายแดนไทย-ลาวมีลักษณะปิดกั้นยาก ความยากจนในพื้นที่และการบังคับใช้กฎหมายจากส่วนกลางในพื้นที่ชายแดนมีความไม่สม่ำเสมอและขาดประสิทธิภาพทำให้เกิดการลักลอบขนส่งสิ่งผิดกฎหมายอยู่เป็นประจำ อาชญากรรมดังกล่าวก่อให้เกิดความไม่สงบในบริเวณพื้นที่ชายแดน
ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ (water management) แม่น้ำโขงเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญยิ่ง ทั้งทางด้านชลประทาน การคมนาคม การดำรงชีวิตของคนเป็นจำนวนหลายล้านคน แต่การบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโขงก็ประสบปัญหาหลายประการ เช่น การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร การพัฒนาขยายตัวของเมืองและการแข่งขันด้านผลประโยชน์ในพื้นที่ การสร้างเขื่อนบริเวณต้นน้ำของสาธารณรัฐประชาชนจีนทำให้เกิดข้อกังวลเกี่ยวกับปริมาณน้ำที่อาจจะลดลงสำหรับประเทศปลายน้ำ เมื่อสาธารณรัฐประชาชนจีนจำกัดการไหลของน้ำตามธรรมชาติซึ่งกระทบต่อระบบนิเวศฯและการดำรงชีวิตของประชาชนที่พึ่งพาแม่น้ำโขงมาโดยตลอด ในทีนี้ผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดนไทย-ลาวที่เป็นแม่น้ำโขงย่อมได้รับผลกระทบและรับความเสี่ยงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งในด้านการเกษตร ระบบชลประทานเองก็ยังขาดประสิทธิภาพจนบางครั้งความสูญเสียทางเศรษฐกิจในหมู่ประเทศที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง
การแก้ปัญหาชายแดนต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม
การแก้ไขปัญหาชายแดนต้องมีการให้พื้นที่ของผู้คนที่อยู่บริเวณชายแดนเองร่วมกับข้าราชการในพื้นที่ เช่นความร่วมมือทางทหารของภูมิภาคและคณะกรรมการประสานงานชายแดน ปัญหาชายแดนต้องมีการแก้ไขร่วมกันไม่ได้จำกัดอยู่แค่รัฐใดรัฐหนึ่ง เช่น เรื่องการเสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อม (environmental degradation) และการบริหารจัดการน้ำ (water management) ประเด็นเรื่องความเสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบอย่างมากทั้งไม่ใช่เฉพาะแค่ไทยและสปป.ลาว แต่ยังรวมถึงประเทศต่าง ๆ ที่อยู่ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง สาเหตุสำคัญเกิดมาจากการตัดไม้ทำลายป่า การรุกล้ำป่าสงวนจากการเกษตร การสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ และสภาวะอากาศรวน ซึ่งไปทำลายระบบนิเวศน์ของป่าไม้ (forest ecosystem) จนส่งผลให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวะภาพ (biodiversity) ส่งผลให้เกิดมลพิษในน้ำ (water pollution) อันนำมาซึ่งผลกระทบโดยตรงต่อชายแดนไทย-ลาวทั้งที่เป็นผืนแผ่นดินและเป็นแม่น้ำ ทั้งความล่อแหลมที่จะเกิดสาธารณะภัยขึ้นทั้งภัยแล้ง อุทกภัย คุณภาพน้ำลดลง พื้นที่เพาะปลูกลดลง ท้ายที่สุดอุตสาหกรรมการเกษตรและการประมงก็ได้รับผลกระทบและเกิดความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจ สังคมจนอาจเกิดการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของประชากรไปในที่ที่มีโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ดีกว่า
สำหรับประเด็นภัยคุกคามด้านสภาพแวดล้อม เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นตามแนวชายแดนไทยต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อม เช่นการบูรณาการกับชุมชนในพื้นที่ของรัฐไทยและพื้นที่ป่าในประเทศเพื่อนบ้าน ผ่านการดำเนินการพัฒนาแบบยั่งยืน (sustainable development) กล่าวคือต้องมีโครงการปลูกป่า (reforestation) การรักษาความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่สำคัญ (conservation of biodiversity hotspots) การเกษตรยั่งยืน (sustainable agriculture) เพื่อลดผลกระทบของความเสื่อมโทรมทางด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้แล้วการรักษาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อนุรักษ์ (protected areas) ยังมีประโยชน์ต่อชุมชนชายแดนในฐานะสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (eco-tourism) ที่จะสร้างรายได้ให้กับชุมชนในขณะเดียวกันธรรมชาติตามแนวชายแดนก็ยังคงได้รับการอนุรักษ์ ร่วมมือในระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับชาติควรได้รับการผลักดันต่อไปในอนาคต
ความท้าทายในการจัดการปัญหาในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเกิดจากปัญหาทรัพยากรไม่เพียงพอในการรับมือปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนและหน่วยงานในระดับท้องถิ่นมีขีดความสามารถที่จำกัด ระบบบริหารราชการแผ่นดินที่มีขั้นตอนหลายระดับและกินเวลานานก็เป็นอุปสรรคในการรับมือแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ การประสานงานและการสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจึงสำคัญเป็นอย่างมาก การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนชายแดนในการตัดสินใจต่าง ๆ ให้สอดคล้องตามลักษณะเฉพาะและข้อจำกัดของชายแดนแต่ละจุดจึงมีส่วนสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมย้่งยืน