กรุงเทพ- เมื่อวันที่ 18-19 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ส่วนวิเทศสัมพันธ์ กองวิชาการและแผนงาน (วช.) กรมการปกครอง ร่วมกับ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime- UNODC) จัดงาน “การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนแผนความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดนไทยในภูมิภาคอาเซียน” (National Policy Dialogue on Transnational Organized Crime in a Border Management Framework: Implementing the recommendations from the Border Management Cooperation Dialogue for the ASEAN Region) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม “การสร้างภาคีเครือข่ายและการปรึกษาหารือ (Partnership Building and Consultation)” ภายใต้โครงการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Enhancing People-to-People Connectivity to Address Non-traditional Security Challenges in the Mekong Regio) หรือ โครงการ– NTS -Mekong Watch ณ โรงแรม แบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค
ภายในงานได้รับเกียรตินายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม โดยมีนายมาซุด คาริมิพัวร์ ผู้แทน UNODC ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเชียงใต้และแปซิฟิก กล่าวต้อนรับ และมี นางวจิราพร อมาตยกุล ผอ.วช. ในฐานะผู้แทนของ อปค. และ นางสาวสุชาดา เมฆธารา ผู้อำนวยการกองการเมืองและความมั่นคง กรมอาเซียนเข้าร่วมเป็นเกียรติในการประชุมด้วย
การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ เพื่อเป็นการรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะการบริหารจัดการขายแดนอย่างมีส่วนร่วมและครอบคลุม (Comprehensive security border management) โดยใช้ “ร่างแผนงานความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดนในภูมิภาคอาเซียน” (ASEAN Border Management Cooperation Roadmap) ที่ผลักดันโดยกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งอยู่ในระหว่างการขับเคลื่อนในเวทีอาเซียนเป็นกรอบในการพิจารณา โดยมีตัวแทนหน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการชายแดนและการรับมือภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่และนายอำเภอ/ปลัดอำเภอชายแดน และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆของ วช. กรมการปกครอง รวมผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งสิ้นจำนวน 60 คน
เดินหน้าขับเคลื่อน4 ประเด็นหลัก จาก แผนสู่การปฏิบัติ ( From Plan to Action)
โดยที่ประชุมได้มีการพิจารณาขับเคลื่อน 4 ประเด็นสำคัญของ ASEAN Border Management Roadmap ได้แก่ 1. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติที่ต้องมีความสอดคล้องกับร่างแผนงานความร่วมมือด้านบริหารจัดการชายแดนอาเซียน 2.การแลกเปลี่ยนข้อมูล 3.การบังคับใช้กฎหมายและการสร้างศักยภาพของสถาบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ 4. ชุมชนชายแดน โดยได้รับเกียรติ จาก นายโชติพันธ์ จุลเพชร นักสืบสวนสอบสวนเชี่ยวชาญ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พันตำรวจเอก ชิตพล กาญจนกิจ อาจารย์ (สบ5) กลุ่มงานอาจารย์ กองบัญชาการศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นางสาว รวินทร์นิภา การินทร์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ กองความมั่นคงกิจการชายแดนและประเทศรอบบ้าน สมช. และ นายศุภสันส์ ภูมิไชยา เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ ส่วนวิเทศสัมพันธ์ กรมการปกครอง เป็นวิทยากรหลักในการระดมความคิดเห็น
โดยที่ประชุมต่างเห็นตรงกันว่า เรื่องการบริหารจัดการชายแดนและการรับมือภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ ควรได้รับการเสนอเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้การขับเคลื่อนมีเอกภาพ มีเจ้าภาพ และไปในทิศทางเดียวกัน ขณะที่การแลกเปลี่ยนข้อมูลต้องพิจารณาตามความอ่อนไหวของข้อมูลว่าสามารถแลกเปลี่ยนได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร แต่ที่สำคัญการแลกเปลี่ยนข้อมูลจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีการสร้างไว้วางใจ มั่นใจ ซึ่งกันและกัน ซึ่งการแลกเปลี่ยนข้อมูลอาจจะสามารถเริ่มได้จากเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันก่อน และเห็นว่า ควรมีการส่งเสริมการปฏิบัติงานของสำนักงานประสานแก้ไขปัญหายาเสพติดชายแดน (Border Liaison Office: BLO) ให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่มากขึ้น
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้เห็นตรงกันว่าการเพิ่มศักยภาพของเจ้าหน้าที่เป็นเรื่องสำคัญเพราะภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่มีพลวัตรสูงมาก เจ้าหน้าที่ต้องมีความรู้เท่าทัน โดยควรมีการอบรมให้พื้นฐานความรู้ ทั้งเรื่อง กฎหมาย กลไก ต่างๆให้กับเจ้าหน้าที่รวมถึงการส่งต่อองค์ความรู้ (Knowledge management) ให้กับเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานเพื่อให้การทำงานมีความต่อเนื่อง และเห็นว่า ควรมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะกล้อง CCTV ที่สามารถดูได้แบบ Real time ผ่านอินเตอร์เน็ต จะช่วยเจ้าหน้าที่ได้อย่างมาก ซึ่งหากรัฐบาลมีการกำหนดเชิงนโนบายและประสานกับบริษัทโทรคมนาคมระดับชาติ เพื่อให้มีการติดตั้ง CCTV ในพื้นที่สุ่มเสี่ยง/ล่อแหลมต่อการทำผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการขบวนการค้าเสพติด จะสามารถช่วยบลดปัญหานี้ได้ เพราะประเทศไทยมีช่องทางธรรมชาติจำนวนมากที่เอื้อต่อขบวการเหล่านี้และเจ้าหน้าที่ก็มีไม่พอที่เฝ้าระวังในทุกพื้นที่ของชายแดนได้
อีกทั้งเห็นว่า การทำงานของส่วนกลางและส่วนภูมิภาคควรจะมีการความใกล้ชิดกันมากกว่านี้ โดยเฉพาะกับพื้นที่ชุมชนชายแดน ที่ยังต้องการข้อมูลข่าวสารจากส่วนกลาง เพื่อนำไปถ่ายทอดให้กับประชาชน โดยเฉพาะในเรื่องการรับมือภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ ที่สามารถส่งผ่าน Application Line ได้เลยเพราะแต่ละพื้นที่มีกลุ่มไลน์ของประชาชนและผู้นำชุมชนอยู่แล้ว เชื่อว่าถ้าประชาชนได้รับความรู้และมีการตระหนักก็จะเป็นกำลังสำคัญในการรับมือภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่เหล่านี้ได้ และควรมีการสร้างแรงจูงใจให้ทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนในพื้นที่ชายแดน ในการทำงานตรวจตราเฝ้าระวังพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่ ซึ่งจะเป็นกำลังในการช่วยเจ้าหน้าที่จัดการปัญหาชายแดนและรับมือภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่อย่างยั่งยืน
ชี้ภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ซับซ้อน ต้องมี ““ร่างแผนปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ”เพื่อสร้างเจ้าภาพและความเป็นเอกภาพ
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มีการจัดเวทีเสวนา เรื่อง ปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ และการร่วมมือระหว่างประเทศในการรักษาความมั่นคงทางชายแดน (Non-Traditional Security (NTS) and Collaborative International Efforts in Border Security) โดยได้รับเกียรติจาก พันตำรวจเอกวัชรพันธ์ ศิริพากย์ รองผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ร้อยตำรวจเอก ทินวุฒิ สีละพัฒน์ ผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และ นางสาวสุชยา โมกขเสน เจ้าหน้าที่โครงการบริหารงานชายแดนประจำประเทศไทย UNODC โดยมีเนื้อหาโดยสรุปว่า ปัจจุบันขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติได้ใช้คาสิโนเป็นแหล่งซ่องสุมการทำความผิดและเป็นแหล่งฟอกเงิน (Justify source of Funding) เพื่อทำให้เป็นเงินที่ไม่ผิดกฎหมาย และยังตั้งอยู่ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเพราะกฎหมายไม่เคร่งครัด และการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ทำได้ยาก และขบวนการอาชญากรรมจำนวนมากซ่องสุมอยู่ในประเทศไทย เป็นกลุ่มจีนเทา ที่ปักหลักอาศัยอยู่ในประเทศไทย ซึ่งขบวนการเหล่านี้กำลังถูกปราบปรามเพื่อไม่ให้อาศัยได้อย่างเป็นปกติสุขในประเทศไทย
ทั้งนี้ภัยอาชญากรรมรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะการหลอกลวงทางออนไลน์ ได้สร้างความเสียหายต่อคนไทยจำนวนมาก แนวทางการแก้ไขต้องมีการสร้างความเข้มแข็งระหว่างชายแดนกับชายแดน การทำงานระหว่างส่วนภูมิภาคและส่วนกลางต้องมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น และ ควรมีหน่วยงานความมั่นคง โดยเฉพาะ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ควรจัดทำ “ร่างแผนปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ” เพื่อให้เป็นแผนใหญ่ของชาติและนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นเอกภาพของหน่วยงานต่างๆ ต่อไป
อีกทั้งมีการบรรยาย เรื่อง “นโยบายและแผนความมั่นคงที่ ๓ การรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติพื้นที่ชายแดน (ภายใต้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ.2566 – 2570) : หน้าที่และบทบาทความรับผิดชอบ และ ความคืบหน้าในการดำเนินเป็นอย่างไร? โดย นาย ธีรภัทร จุนทการ ผู้อำนวยการกองความมั่นคงกิจการชายแดนและประเทศรอบบ้าน สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และ นายพาสุ พิชาลัย นักวิเคราะห์นโยบายและแผน ชานาญการพิเศษ กระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ทุกคนเข้าใจภาพการบริหารจัดการชายแดนไทยในภาพรวมด้วย
รวมถึงการบรรยาย เรื่อง การบริหารจัดการชายแดนอาเซียนแนวโน้มและสถานการณ์ปัจจุบันของอาชญากรรมข้ามชาติ โดย วิทยากรจาก UNODC ได้แก่ 1. นาย เฟลิเป้ เดอ ลา ตอเร่ (Felipe De La Torre) ผู้ประสานงานส่วนภูมิภาค (ด้านงานนโยบายและสื่อสารองค์กร) โครงการบริหารงานชายแดน แบะ2. นายลิกู เลเตอเวอรี (Riku Lehtovuori) ผู้ประสานงานส่วนภูมิภาค (ด้านงานบังคับใช้กฎหมายและการฝึกอบรม) โครงการบริหารงานชายแดน เพื่อให้ภาพรวมสถานการณ์อาชญากรรมข้ามชาติในภูมิภาคด้วย
ที่ประชุมยังได้ให้หน่วยงานต่างๆนำเสนอการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงานในเรื่องการบริหารจัดการชายแดนและการรับมือภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ โดยพบว่า ขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ มีความล้ำหน้าทางเทคโนโลยี โดยมีการจับกุม เครื่องรับ-ส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียม Starlink และซิมการ์ดจำนวนมาก รวมถึง อาชญากรรมที่เกี่ยวกับการอุ้มบุญ โดยการตรวจพบถังเก็บอสุจิ ซึ่งเป็นอาชญากรรมรูปแบบใหม่ที่ไม่ยังไม่พบมากนัก นอกจากนี้ในเรื่องการค้ามนุษย์ เพราะมีขบวการ/องค์กรที่มีความซับซ้อน และมีการทำงานร่วมกันกับขบวนการยาเสพติด การฟอกเงิน มีขบวนการบังคับเหยื่อให้ทำผิดกฎหมาย( Forced Criminality) การคัดแยกทำได้ยาก ว่าเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ หรือผู้กระทำความผิดโดยเจตนา รวมถึง การกระทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐที่เอื้อต่อขบวนการอาชญากรรมเหล่านี้ด้วย
สำหรับหน่วยงานที่เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ได้แก่ 1. สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ 2. กระทรวงการต่างประเทศ 3. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด 4. กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ 5. กองบัญชาการกองทัพไทย 6. กรมศุลกากร 7.กรมควบคุมโรค 8. สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง 9. กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง 10.สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน 11. สำนักข่าวกรองแห่งชาติ
ทั้งนี้โครงการ NTS- Mekong Watch เป็นข้อเสนอของกรมการปกครอง ที่ได้รับสนับสนุนโดย กองทุนความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 6 (Mekong-ROK Cooperation Fund: MKCF) ภายใต้การจัดการ สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (Mekong Institute) โดยมีวัตถุประสงค์ส่งเสริมการบูรณาการความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคให้มี ความครอบคลุมมากยิ่งขึ้นเพื่อรับมือกับปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติในพื้นที่ชายแดนไทย-ลาว และ ไทย-กัมพูชา อย่างมีประสิทธิภาพและรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการค้ามนุษย์ การลักลอบขนยาเสพติดข้ามแดน และการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย โดยมีแนวทางในการดำเนินคือ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเฝ้าระวังภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ และ การเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน ผ่านแนวทาง “การสร้างชุมชนเข้มแข็งระหว่างประเทศ” ที่ส่งเสริมให้ 1. ประชาชน/เจ้าหน้าที่ ในพื้นที่คู่ขนานเรียนรู้กฎหมาย/ระเบียบซึ่งกันและกัน 2. การใช้หลักมนุษยธรรมนำการตัดสินใจในเรื่องที่เป็นความทุกข์ยากลำบากของประชาชน และ 3. การบังใช้กฎหมายโดยไม่เลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นความผิดอาชญากรรมร้ายแรง โดยหลักการพื้นฐานเหล่านี้จะก่อให้เกิดความเข้าอกเข้าใจ ไว้วางใจซึ่งกันและกัน และทำให้พื้นที่คู่ขนานเป็นเนื้อเดียวกัน ช่วยเหลือกัน เป็น “รั้ว”ให้กันและกัน เข้มแข็งไปด้วยกัน ภัยคุกคามต่างๆก็จะเข้าถึงประชาชนได้ยาก ซึ่งจะเป็นเกราะกำบังภัยความมั่นคงรูปแบบบใหม่อย่างยั่งยืน
#DOPAxUNODC
#ASEAN_Border_Managent_Roadmap
#NTSMekongWatch
#AwarenessToday
#Securetomorrow
#การปกป้องชายแดนเท่ากับการปกป้องประเทศ
####